Search This Blog / The Web ต้นหาบล็อกนี้ / เว็บ

Tuesday, February 4, 2014

พระอาจารย์หมอชีวก โกมารภัจจ์


พระอาจารย์หมอชีวก โกมารภัจจ์






ประวัติพระอาจารย์หมอชีวกโกมารภัจจ์โดยย่อ

จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

ประวัติพระอาจารย์หมอชีวกโกมารภัจจ์
พระอาจารย์หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นชาวมคธ มีน้องสาวชื่อ นางสิริมา เป็นบุตรของนางสาลวดี หัวหน้าหญิงนครโสเภณีประจำเมืองราชคฤห์ แห่งแคว้นมคธ

ในสมัยนั้นหญิงนครโสเภณีเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ ได้รับแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์เหมือนตำแหน่งเศรษฐีประจำเมือง เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น เมื่อนางสาลวดีตั้งครรภ์โดยบังเอิญ ถ้าทารกเป็นชายก็ถูกนำไปทิ้งนอกเมือง เพราะอาจเป็นที่ครหาไม่สะดวกในการประกอบอาชีพหญิงนครโสเภณี ถ้าเป็นหญิงก็จะได้รับการเลี้ยงไว้อย่างดีเพื่อจะได้สืบทอดอาชีพหญิงโสเภณีต่อไป

เมื่อนางสาลวดีมีบุตรคนแรกเป็นเด็กชาย นางจึงให้สาวใช้นำไปทิ้งไว้ที่กองขยะนอกเมืองในเวลาเช้ามืด เผื่อมีคนใจบุญที่ประสงค์จะมีบุตรชายพบเห็นและรับไปเลี้ยงไว้

ในเวลาเช้าของวันนั้น อภัยราชกุมารพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ขณะเสด็จประพาสพระนครได้ทอดพระเนตรเห็นมีอีกาฝูงหนึ่งกำลังรุกเข้าถอยออกจากกองขยะ จึงให้สารถีเข้าไปดู พบว่าเป็นทารกยังมีชีวิตอยู่ จึงได้นำไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรมและทรงหาแม่นมมาเลี้ยงทารก และตั้งชื่อว่า “ชีวกะ” หมายถึง "ยังมีชีวิตอยู่" ส่วนคำว่า “โกมารภัจจ์" แปลว่า “กุมารที่ได้รับการเลี้ยงดู หรือกุมารในราชสำนัก” อันหมายถึง “บุตรบุญธรรม” นั่นเอง

หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้เข้าศึกษาวิชาแพทย์ที่สำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ นครตักศิลา
เมื่อท่านเจริญวัยขึ้น อายุ ๑๖ ปี ก็มีความชอบวิชาการแพทย์ ได้ทราบข่าวจากเพื่อนพ่อค้าเกวียนว่ามีสำนักศึกวิชาการแพทย์ ท่านคิดจะบอกลาพระอภัยราชกุมารธรรมเนียม เพื่อไปศึกษาวิชาการแพทย์แต่กลัวว่าจะไม่ได้รับอนุญาต จึงได้แอบหนีออกจากวังมหานครราชคฤห์ แคว้นมคธ ท่านคิดว่า เรียนวิชาการแพทย์สำเร็จแล้วจะกลับมาขออภัยภายหลัง

ท่านได้เดินทางไปกับเพื่อนพ่อค้าเกวียนที่คุ้นเคย และได้ศึกษาวิชาการแพทย์อยู่กับอาจารย์พระฤๅษีโรคาพฤกษติริณาที่เมืองตักศิลาแห่งแคว้นคันธาระ เป็นเวลา ๗ ปี (ปกติต้องใช้เวลาเรียน ๑๖ ปี)  ท่านได้อาสาปรนนิบัติรับใช้อาจารย์พระฤๅษีฯ เนื่องจากไม่มีเงินค่าเล่าเรียน จึงเป็นที่รักใคร่ของอาจารย์พระฤๅษีฯ และได้รับการถ่ายทอดวิชาการแพทย์ให้ทั้งหมดโดยไม่ปิดบัง

ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นศิษย์ที่ดี มีความเคารพเชื่อถือ กตัญญูกตเวที มีศีลธรรม ใจเย็น มารยาทดีงาม มีปัญญาดีมาก อยู่มาวันหนึ่งอาจารย์พระฤๅษีฯ จึงให้ความรู้พิเศษอีกแขนงหนึ่ง คือ วิชาผสมยา ปรุงยาขนานเอก พร้อมทั้งวิธีการรักษาโรคด้วย ยาขนานนี้มีคุณภาพสูงมาก ใช้รักษาโรคเพียงครั้งเดียวก็หายได้ เว้นแต่โรคที่เกิดจากวิบากแห่งกรรม (กัมะวิปากชา อาพาธา)  อาจมีคำถามว่า “ทำไมความรู้พิเศษนี้จึงไม่มีการถ่ายทอดสืบทอดต่อมา" คำตอบคือ "ความรู้พิเศษนี้เป็นของพระอินทร์ เพราะว่าพระอินทร์เล็งเห็นว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์จะเป็นแพทย์หลวงของพระเจ้าพิมพิสาร, แพทย์ของพระพุทธะเจ้าและหมู่พระสงฆ์  จึงได้เข้าสิงร่างอาจารย์พระฤๅษีฯ แล้วถ่ายทอดวิชาพิเศษให้เป็นกรณีพิเศษ”

เมื่อท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ศึกษาวิชาการแพทย์และปฏิบัติมาได้ ๗ ปี ได้ถามอาจารย์พระฤๅษีฯ ว่าเมื่อไหร่จึงจะสำเร็จวิชาการแพทย์ ?  อาจารย์พระฤๅษีฯ จึงได้ทดสอบความรู้โดยให้ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ถือเสียมออกตรวจดูรอบๆ เมืองตักศิลาในรัศมี ๔๐๐ เส้น ( ๑ โยชน์) เพื่อตรวจว่า สิ่งใดไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา  ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์หาไม่พบสิ่งที่ไม่เป็นยาสักอย่างหนึ่ง

อาจารย์พระฤๅษีฯ จึงบอกว่า ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า “เธอศึกษาสำเร็จแล้ว เพียงเท่านี้ก็พอที่เธอจะประกอบอาชีพได้แล้ว” อาจารย์พระฤๅษีฯ ได้ให้เสบียงเดินทางเล็กน้อยแก่ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ ด้วยอาจารย์พระฤๅษีฯ คิดว่าหมอชีวกเป็นบุตรราชสกุล เรียนจบไปแล้วกลับไปถึงเมืองจะได้ลาภสักการะใหญ่จากราชสกุล แม้ขณะนี้เขาจะไม่รู้คุณค่าของวิชาศิลปะการแพทย์  แต่หากเขาหมดเสบียง เขาจะใช้ศิลปะวิชาที่เรียนมาหาเสบียงเดินทาง เขาก็จะรู้คุณของวิชา และรู้คุณของอาจารย์พระฤๅษีฯ 

ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ถือเสบียงเล็กน้อยนั้นแล้ว ได้เดินทางมุ่งไปพระนครราชคฤห์ ครั้นเดินทางไป เสบียงเพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดลงที่เมืองสาเกต  ในระหว่างทางจึงเกิดความวิตกกังวลว่าหนทางนี้กันดารอัตคัดน้ำ และอาหาร คนที่ไม่มีเสบียงจะเดินทางไปได้โดยยาก  เราจำเป็นต้องหาเสบียงอาหารเพื่อการดำรงชีพระหว่างการเดินทาง

ท่านหมอชีวกฯ เริ่มรักษาคนไข้ เพื่อหาค่าตอบแทนเป็นเสบียงอาหาร ในขณะที่เดินทางไปเมืองสาเกตนั้นท่านได้ข่าวว่าภรรยาเศรษฐีที่เมืองสาเกต เป็นโรคปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทำให้สูญเสียเงินไปเป็นอันมาก

ขณะนั้นท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์จึงเข้าไปสู่เมืองสาเกต ได้บอกคนคนเฝ้าประตูว่า เขาเป็นหมอมาที่นี่มีความประสงค์จะขอเยี่ยมภรรยาเศรษฐี  คนเฝ้าประตูรับคำท่านหมอชีวกโกมารภัจ แล้วจึงได้เข้าไปบอกภรรยาเศรษฐี มีหมอหนุ่มคนหนึ่งมาเยี่ยม จะรักษาโรคให้   ภรรยาเศรษฐี พูดว่า “หมอหนุ่มจะรักษาโรคหายได้อย่างไร ?  นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่หาย และได้ขนเงินไปเป็นอันมากแล้ว”  คนเฝ้าประตูได้ออกไปบอก ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ตามคำพูดของภรรยาเศรษฐี 

ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ จึงบอกให้คนเฝ้าประตูไปบอกภรรยาเศรษฐี ว่า “เมื่อรักษาโรคหายแล้ว ภรรยาเศรษฐี ประสงค์จะให้สิ่งใด ก็ให้สิ่งนั้นเถิด”  ภรรยาเศรษฐีจึงให้คนเฝ้าประตูเชิญท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ เข้าไปรักษาได้
 
ท่านหมอชีวกะฯ เริ่มรักษาโรคปวดศีรษะ นาน ๗ ปีให้ภรรยาเศรษฐี
ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปพบภรรยาเศรษฐี  และตรวจดูอาการป่วย แล้วได้ขอเนยใสขนาดหนึ่งถุงเท่ามือ ภรรยาเศรษฐีบอกให้สาวใช้หาเนยใสมาให้แล้ว หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้หุงเนยใสกับยาต่างๆ บอกให้ภรรยาเศรษฐีนอนหงายบนเตียง แล้วให้นัตถุ์ยา ขณะนั้นเนยใสที่ให้นัตถุ์ได้พุ่งออกจากปาก  ภรรยาเศรษฐีถ่มลงในกระโถน แล้วบอกสาวใช้ให้ใช้สำลีซับเนยใสไว้  

ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์คิดว่า ภรรยาเศรษฐีคนนี้ช่างสกปรก เนยใสที่ถ่มออกมานี้จำเป็นต้องทิ้ง ยังใช้ให้สาวใช้เอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงมากกว่า กลับปล่อยให้เสีย  ภรรยาเศรษฐีคนนี้จะให้ค่าตอบแทนอะไรแก่เราบ้าง ?

ขณะที่ภรรยาเศรษฐีสังเกตเห็นอาการแปลกใจของหมอโกมารภัจจ์  จึงได้ถามหมอผู้ทำการรักษาว่า “ท่านหมอแปลกใจอะไรหรือ ?”  หมอชีวกโกมารภัจจ์พูดว่า “เวลานี้ผมกำลังคิดอยู่ว่า ภรรยาเศรษฐีคนนี้ช่างสกปรกเหลือเกิน เนยใสที่ถ่มออกมานี้จำเป็นต้องทิ้ง ยังใช้ให้สาวใช้เอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงมากกว่าปล่อยให้เสียไป ภรรยาเศรษฐีคนนี้จะให้ค่าตอบแทนอะไรแก่เราบ้าง ?

ภรรยาเศรษฐีจึงพูดว่า “ท่านหมอ พวกดิฉันชื่อว่าเป็นคนมีเหย้าเรือน จำเป็นจะต้องรู้จักสิ่งที่ควรสงวน เนยใสนี้ยังดีอยู่จะใช้เป็นยาสำหรับทาเท้าพวกทาสหรือกรรมกรก็ได้ ใช้เป็นน้ำมันเติมตะเกียงก็ได้ ท่านหมออย่าได้คิดวิตกไปเลย ค่าตอบแทนการรักษาของท่านจักไม่ลดน้อยลง”

ดังนั้นท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์จึงได้รักษาโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นมา ๗ ปีให้หาย โดยวิธีนัตถุ์ยาคราวเดียวเท่านั้น

ครั้นเมื่อภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๔,๐๐๐ กหาปณะ
บุตรเศรษฐีได้ทราบว่ามารดาของเราหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กหาปณะ
บุตรสะใภ้ได้ทราบว่า แม่ผัวของเราหายโรคแล้ว ก็ได้ให้รางวัล ๔,๐๐๐ กหาปณะ
เศรษฐีคหบดีทราบว่าภรรยาของตนหายโรคแล้วได้เพิ่มรางวัลให้อีก ๔,๐๐๐ กหาปณะ และให้ทาสทาสี รถม้าอีกด้วย

ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะกับทาสทาสี รถม้าได้เดินทางมุ่งไปพระนครราชคฤห์

เมื่อท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์กลับมาถึงพระนครราชคฤห์แล้ว ได้เข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย กราบขออภัยโทษที่แอบหนีไปศึกษาวิชาการแพทย์โดยไม่ได้บอกลา และได้กราบทูลว่าได้รับเงินค่ารักษาโรคปวดศีรษะนาน ๗ ปีให้แก่ภรรยาเศรษฐีคนหนึ่งที่เมืองสาเกตแล้วได้รับค่าตอบแทน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ กับทาส ทาสี และรถม้านี้เป็นการกระทำการรักษาครั้งแรกของเกล้ากระหม่อม ขอใต้ฝ่าพระบาทจงทรงพระกรุณาโปรดรับค่าเลี้ยงดูเกล้ากระหม่อมเถิด พระเจ้าข้า

พระอภัยราชกุมารอภัยโทษให้ และปฏิเสธการรับเงินกับสิ่งของเหล่านั้น พร้อมรับสั่งว่าให้สร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์

ท่านหมอชีวกะฯถวายการรักษาโรคริดสีดวงที่ทวารหนักให้แก่พระเจ้าพิมพิสาร
ครั้งหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารมคธินทราราชทรงประชวรโรคริดสีดวงที่พระทวารหนัก พระภูษาเปื้อนพระโลหิตเสมอ  อภัยราชกุมารทูลว่ามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชื่อหมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม มีความรู้ทางการแพทย์ดีพิเศษ  พระเจ้าพิมพิสารทรงโปรดให้นำหมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าเฝ้า

ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ทูลขออนุญาตตรวจพระโรคภคันทลา หรือริดสีดวงที่พระทวารหนัก เมื่อตรวจเสร็จแล้ว ก็จัดยาถวายทาเพียงครั้งเดียวโรดริดสีดวงก็หายเป็นปกติ

ครั้นพระเจ้าพิมพิสารฯ ทรงหายประชวรจึงรับสั่งให้สตรี ๕๐๐ นางตกแต่งเครื่องประดับทั้งปวง ให้เปลื้องออกใส่ห่อไว้ทั้งหมด ได้มีพระราชโองการแก่ชีวกโกมารภัจจ์ว่า “เครื่องประดับทั้งปวงของสตรี ๕๐๐ นางนี้จงเป็นของเจ้า” ชีวกโกมารภัจจ์ปฏิเสธไม่รับ ทูลว่าขอพระองค์จงทรงโปรดระลึกว่าเป็นหน้าที่ของข้าพระพุทธเจ้าเถิด

พระเจ้าพิมพิสารฯ จึงตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงเป็นแพทย์หลวงของเรากับพวกฝ่ายใน และภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข” ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการ

ด้วยความมีน้ำใจที่ดี ทำให้พระเจ้าพิมพิสารฯ ทรงเลื่อมใสหมอชีวก ได้พระราชทานเรือนพร้อมด้วยเครื่องประดับ ทั้งสวนอัมพวันและหมู่บ้านสำหรับใช้เก็บส่วย ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะต่อปี


ท่านหมอชีวกะฯ รักษาโรคปวดศีรษะ ๗ ปี ของเศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์
ในสมัยนั้น เศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะอยู่นาน ๗ ปีกว่า
นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้รับเงินไปเป็นจำนวนมาก อนึ่งเศรษฐีนั้นถูกนายแพทย์พวกนั้นบอกเลิก นายแพทย์บางคนได้ทำนายไว้ว่า เศรษฐีคหบดี จะถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ ๕ บางคนทำนายไว้ว่า จะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗

ในครั้งนั้น พวกคนร่ำรวย ชาวพระนครราชคฤห์ได้มีความวิตกกังวลว่า เศรษฐีคหบดีนี้มีอุปการะมากแก่พระเจ้าอยู่หัวและชาวนิคม แต่ท่านถูกนายแพทย์บอกเลิกการรักษา นายแพทย์บางพวกทำนายไว้ว่าเศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ บางพวกทำนายไว้ว่า จะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗

ในเวลานี้เมืองมคธมีหมอชีวกโกมารภัจจ์ผู้เป็นนายแพทย์หลวงหนุ่มมีความรู้และเชี่ยวชาญพิเศษ พวกเราพึงทูลขอหมอชีวกะฯ ต่อพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้รักษาเศรษฐีคหบดี แล้วจึงพากันไปในราชสำนัก

ครั้นถึงพระราชวังแล้วได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลแด่พระเจ้าพิมพิสารมคธินทราราชว่า
“ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม เศรษฐีคหบดีผู้นี้มีอุปการะมาก
แก่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและชาวนิคม แต่ท่านถูกนายแพทย์บอกเลิกการรักษาแล้ว
แพทย์บางพวกทำนายไว้ ว่า เศรษฐีคหบดี จะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕
บางพวกทำนายไว้ว่า จะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗  จึงใคร่ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส
ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงทรงมีพระบรมราชโองการให้แพทย์หลวงชีวกโกมารภัจจ์ ได้ไปรักษาโรคปวดศีรษะให้เศรษฐีคหบดีด้วย”

ในครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารมคธินทราราช ทรงมีพระราชดำรัสให้แพทย์หลวงชีวกโกมารภัจจ์
ไปรักษาเศรษฐีคหบดีตามความต้องการของประชาชน

หมอชีวกะฯได้ไปเยี่ยมเศรษฐีและตรวจดูอาการที่ผิดปกติของเศรษฐีคหบดีแล้วได้ถามเศรษฐีคหบดีว่า  “ท่านคหบดี ถ้าฉันรักษาท่านหายจากโรค ท่านจะให้อะไรเป็นสิ่งตอบแทนแก่ฉันบ้าง ?”  เศรษฐีตอบว่า “ถ้าท่านรักษาให้โรคปวดศีรษะที่เป็นมานานกว่า ๗ ปีนี้หายได้ ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจะเป็นของท่าน และข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาสของท่าน”

หมอชีวกโกมารภัจจ์พูดว่า “ท่านคหบดี ท่านจะนอนตะแคงขวาตลอด ๗ เดือนได้ไหม?”
เศรษฐีตอบว่า  “ท่านหมอชีวกฯ ข้าพเจ้าจะนอนตะแคงขวาตลอด ๗ เดือนได้”
หมอชีวกโกมารภัจจ์พูดว่า “ท่านคหบดี ท่านจะนอนตะแคงซ้ายตลอด ๗ เดือนได้ไหม ?”
เศรษฐีพูดว่า “ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าจะนอนตะแคงซ้าย เดือนได้”
ชีวกโกมารภัจจ์พูดว่า “ท่านคหบดี ท่านจะนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ไหม ?”
เศรษฐีพูดว่า “ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าจะนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้”

ในครั้งนั้น หมอชีวกโกมารภัจจ์บอกให้เศรษฐีคหบดีนอนบนเตียง มัดไว้กับเตียงถลกหนังศีรษะเปิดรอยประสานกระโหลกศีรษะ นำสัตว์มีชีวิตออกมาสองตัว แล้วแสดงแก่ประชาชนว่า ท่านทั้งหลายจงดูสัตว์มีชีวิต ๒ ตัวนี้ เล็กตัวหนึ่ง ใหญ่ตัวหนึ่ง 

พวกแพทย์ที่ทำนายไว้ว่า “เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ เพราะท่านได้เห็นสัตว์ตัวใหญ่นี้ มันจักเจาะกินมันสมอง ของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๕ เศรษฐีคหบดีจะถูกมันเจาะกินสมองจนหมด ก็จะถึงอนิจกรรม สัตว์ตัวใหญ่นี้พวกแพทย์นั้นเห็นถูกต้องแล้ว  ส่วนพวกแพทย์ที่ทำนายไว้อย่างนี้ว่า “เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ เพราะท่านได้เห็นสัตว์ตัวเล็กนี้ มันจะเจาะกินมันสมอง ของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๗ เศรษฐีคหบดีจะถูกมันเจาะกินมันสมองจนหมดก็จะถึงอนิจกรรม สัตว์ตัวเล็กนี้พวกแพทย์นั้นเห็นถูกต้องแล้ว”  แล้วหมอชีวกจึงปิดแนวประสานกระโหลกศีรษะ และเย็บหนังศีรษะแล้วได้ทายาสมานแผล

ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดีได้กล่าวกับหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า
“ท่านหมอชีวกะฯ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนตะแคงขวาตลอด ๗ เดือนได้”
หมอชีวกโกมารภัจจ์พูดว่า “ท่านคหบดีท่านรับว่า ท่านจะนอนตะแคงขวาตลอด ๗ เดือนได้ไม่ใช่หรือ ?” เศรษฐีพูดว่า “ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านหมอชีวกฯ แต่ข้าพเจ้าจะตายแน่”
ชีวกโกมารภัจจ์พูดว่า “ท่านคหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนตะแคงซ้ายตลอด ๗ เดือนเถิด”

ครั้นล่วงสัปดาห์ที่สอง เศรษฐีคหบดี ได้กล่าวกับหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า
“ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนตะแคงซ้ายตลอด ๗ เดือนได้”
ชีวกโกมารภัจจ์พูดว่า “ท่านคหบดี ท่านรับว่า ท่านจะนอนตะแคงซ้ายตลอด ๗ เดือนได้ไม่ใช่หรือ ?” เศรษฐีพูดว่า “ข้าพเจ้ารับกับท่านจริง ท่านหมอชีวกฯ แต่ข้าพเจ้าจะตายแน่”
ชีวกโกมารภัจจ์พูดว่า “ท่านคหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนหงายตลอด ๗ เดือนเถิด”

ครั้นล่วงสัปดาห์ที่สาม เศรษฐีคหบดี ได้กล่าวกับชีวกโกมารภัจจ์ว่า
“ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้”
ชีวกโกมารภัจจ์พูดว่า “ท่านคหบดี ท่านรับว่า ท่านจะนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ไม่ใช่หรือ ?”
เศรษฐีพูดว่า “ข้าพเจ้ารับกับท่านจริง ท่านหมอชีวกะฯ แต่ข้าพเจ้าจะตายแน่”
ชีวกโกมารภัจจ์พูดว่า “ท่านคหบดี ถ้าฉันไม่บอกท่านไว้ ท่านก็นอนนานอย่างนี้ไม่ได้
แต่ฉันทราบอยู่ก่อน แล้วว่า เศรษฐีคหบดีจะหายโรคในสามสัปดาห์ ลุกขึ้นเถิด

ท่านหายป่วยแล้ว ท่านจะให้อะไรเป็นสิ่งตอบแทนแก่ฉันบ้าง ?”
เศรษฐีพูดว่า “ท่านหมอชีวกฯ ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจะเป็นของท่าน ข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาสของท่าน”  ชีวกโกมารภัจจ์พูดว่า “อย่าเลย ท่านคหบดี ท่านอย่าให้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดแก่ฉันเลยและท่านก็ไม่ต้องยอมเป็นทาสของฉัน ท่านจงทูลเกล้าถวายทรัพย์แก่พระเจ้าอยู่หัว ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ และให้ฉัน ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะก็พอแล้ว”

ครั้นเศรษฐีคหบดีหายป่วยได้ทูลเกล้าถวายทรัพย์แด่พระเจ้าอยู่หัว ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ ได้ให้แก่ชีวกโกมารภัจจ์ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ

อธิบายว่า หมอชีวกะรู้ว่าหากเศรษฐีผลัดเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ จะทำให้เนื้อสมองเคลื่อนไหว
และแผลก็หายช้า จึงออกอุบายให้เศรษฐีรับคำว่าจะนอนตะแคงและนอนหงาย
อิริยาบถละ ๗ เดือน แต่ที่จริงต้องการให้นอนอิริยาบถเดิมอย่างละ ๗ วันเท่านั้น

ท่านหมอชีวกะฯ รักษาบุตรเศรษฐีป่วยโรคเนื้องอกที่ลำไส้
ในสมัยนั้น เศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสีได้เล่นกีฬาหกคะเมนได้ป่วยเป็นโรคเนื้องอกที่ลำไส้ ข้าวยาคูที่เธอดื่มเข้าไป หรือข้าวสวยที่เธอรับประทาน ไม่ย่อย ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะไม่สะดวกเพราะโรคนั้น เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด ผิวเหลืองขึ้น ๆ ที่ตัวเต็มไปด้วยเส้นเอ็น

ในครั้งนั้นเศรษฐีชาวพระนครพาราณสี ได้มีความวิตกกังวลว่า
“บุตรของเราได้เจ็บป่วย ข้าวยาคูที่เธอดื่มหรือ ข้าวสวยที่เธอรับประทาน ไม่ย่อย การขับถ่าย
อุจจาระและปัสสาวะไม่สะดวก บุตรของเรานั้นจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด
ผิวเหลืองขึ้นๆ ที่ตัวเต็มไปด้วยเส้นเอ็น เพราะโรคนั้น  เราควรไปพระนครราชคฤห์แล้วทูลขอ
นายแพทย์หลวงชีวกโกมารภัจจ์ต่อพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะได้มารักษาบุตรของเราด้วย”

หลังจากนั้นเศรษฐีถึงพระนครราชคฤห์แล้ว ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารมคธินทราราช แล้วได้กราบทูลว่า ”ขอเดชะฯ บุตรของข้าพระพุทธเจ้าได้เจ็บป่วย  ข้าวยาคูที่เธอดื่มหรือข้าวสวยที่เธอรับประทาน ไม่ย่อย ทำให้อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด ผิวเหลืองขึ้นเรื่อยๆ ที่ตัวเต็มไปด้วยเส้นเอ็น เพราะโรคนี้ จึงใคร่ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ขอใต้ฝ่าละอองธุลี พระบาทจงมีพระบรมราชโองการให้นายแพทย์หลวง
ชีวกโกมาภัจจ์ ไปรักษาบุตรของข้าพระองค์”

ดังนั้น พระเจ้าพิมพิสารมคธินทราราช ได้ทรงมีพระราชดำรัสให้แพทย์หลวงชีวกโกมารภัจจ์เดินทางไปพระนครพาราณสี

หมอชีวกะฯได้ไปตรวจอาการคนป่วยแล้วทำการผ่าตัด โดยการมัดลูกเศรษฐีไว้กับเสา ผ่าหนังท้องนำเนื้องอกในลำไส้ออกมาให้ภรรยาของเขาดู แล้วสอดลำไส้กลับดังเดิม เย็นหน้าท้องแล้วทายาสมานแผลให้ ไม่นานนักเขาก็หายจากโรค

เศรษฐีได้ให้ค่าตอบแทนแก่หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณะ
ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณะ แล้วเดินทางกลับมาสู่พระนครราชคฤห์ตามเดิม

รักษาโรคผอมเหลืองของพระเจ้าจัณฑปัชโชต
ในสมัยนั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชตอวันตีมหาราชกรุงอุชเชนี แคว้นอวันตี ประชวรพระโรคผอมเหลืองมีนายแพทย์ใหญ่ ที่มีชื่อเสียงหลายคนมารักษา ก็ไม่อาจทำให้โรคหาย ได้รับเงินค่ารักษาไปเป็นอันมาก

ครั้งนั้นพระเจ้าจัณฑปัชโชตฯ ได้ส่งราชทูตถือพระราชสาส์น ไปที่พระราชสำนักพระเจ้าพิมพิสารฯ มีความว่า “หม่อมฉันเจ็บป่วยเป็นโรคผอมเหลือง  ขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาส ขอพระองค์โปรดให้แพทย์หลวงชีวกโกมารภัจจ์ มารักษาโรคผอมหลืองให้แก่หม่อมฉันด้วย”

พระเจ้าพิมพิสารจึงได้ทรงตรัสบัญชาให้แพทย์หลวงชีวกโกมารภัจจ์ไปเมืองอุชเชนีเพื่อรักษาพระเจ้าจัณฑปัชโชต ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการ แล้วได้เดินทางไปเมืองอุชเชนี  

เข้าไปใน พระราชสำนัก แล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ตรวจอาการที่ผิดปกติของพระเจ้าจัณฑปัชโชต แล้วได้กราบทูลว่า “ขอเดชะฯ ข้าพระพุทธเจ้าจะถวายพระโอสถ ผสมเนยใสเป็นกระสายยาให้พระองค์เสวยพระโอสถและเนยใสเป็นกระสายยา”

พระเจ้าจัณฑปัชโชตฯ ทรงสั่งห้ามว่า “อย่าเลย หมอชีวกะฯ ท่านจงเว้นเนยใสเสียเถอะ
ท่านอาจรักษาเราให้หายโรคได้ด้วยวิธีใดก็ได้ แต่ท่านจงเว้นเนยใสเสีย เพราะเป็นของน่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียน เป็นปฏิกูลสำหรับฉัน  ให้ฉันตายเสียกว่าจะกินเนยใส”  

 ขณะนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความวิตกกังวลว่า “พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ ทรงประชวรด้วยโรคเช่นนี้ ถ้าเราเว้นเนยใสเสียแล้วไม่อาจรักษาพระองค์ให้หายจากโรคผอมเหลืองได้  เราจึงควรหุงเนยใสเคี่ยวไฟให้แก่สักหน่อยให้มีสี กลิ่น รส เหมือนน้ำฝาด”  แล้วได้หุงเนยใสด้วยเภสัชนานาชนิดให้มีสี กลิ่น รส เหมือนน้ำฝาด


ครั้นแล้วฉุกคิดได้ว่าเนยใสที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้เสวยแล้ว เมื่อย่อยละลายจะกระจายรสให้พองตัวจะทำให้เรอออกมาส่งกลิ่นเนยใสไปทั่วพระนาสิก พระองค์จะทรงโกรธเกรี้ยวกราด อาจทรงสั่งให้คนพิฆาตเราเสียก็ได้  ดังนั้นเราควรทูลลาไว้ก่อน

วันต่อมาจึงไปในพระราชสำนัก เข้าเฝ้าพระเจ้าจัณฑปัชโชตฯ แล้วได้กราบทูลว่า
“ขอเดชะฯ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นแพทย์ จะออกไปหาสรรพยาซึ่งเป็นทั้งเวลากลางวันและกลางคืน เพื่อจะได้ตัวยามาถวายการรักษาได้รวดเร็วขึ้น” ขอพระองค์จงมีพระราชโองการตรัสสั่งเจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและที่ประตูทั้งหลายว่า “ถ้าหมอชีวกะต้องการไปด้วยพาหนะใด จงไปด้วยพาหนะนั้น ปรารถนาไปทางประตูใด จงไปทางประตูนั้น ต้องการไปเวลาใด จงไปเวลานั้น ปรารถนาจะเข้ามาเวลาใด จงเข้ามาเวลานั้น”

พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงตรัสบัญชาให้พนักงานในโรงราชพาหนะและที่ประตูทั้งหลาย ทำตามที่หมอชีวกะฯ กราบทูลขอบรมราชานุญาตไว้ทุกประการ

ในสมัยนั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชตมีช้างพังชื่อภัททวดี สามารถเดินทางได้วันละ ๕๐ โยชน์
มีช้างพลายชื่อนาฬาคีรี สามารถเดินทางได้วันละ ๑๐๐ โยชน์
มีม้าอีก ๒ ตัว ชื่อเวลุกัณโณ และมุญชเกโส สามารถเดินทางได้วันละ ๑๒๐ โยชน์
และมีราชบุรุษ ชื่อกาโก  สามารถเดินทางได้วันละ ๖๐ โยชน์

หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ทูลถวายพระโอสถผสมเนยใสแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชต
แล้วกราบทูลว่า “ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงเสวยพระโอสถผสมน้ำฝาด และจะไปจัดพระโอสถมาถวายอีก”

ครั้นหมอชีวกะฯ ให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตเสวยพระโอสถผสมเนยใสแล้วก็ไปโรงช้างหนีออกจากพระนครไป ด้วยช้างพังภัททวดี

ขณะเดียวกันนั้น เมื่อพระโอสถผสมเนยใสย่อยละลายกระจายรสให้พองตัว ทำให้เรอออกมาส่งกลิ่นเนยใสไปทั่วพระนาสิกได้ทำให้ทรงเรอขึ้น พระองค์จะทรงโกรธเกรี้ยวกราดมาก
พระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ตรัสสั่งแก่พวกมหาดเล็กว่า “ เราถูกหมอชีวกะหลอกลวงให้ดื่มยาผสมเนยใส พวกเจ้าจงค้นหาจับหมอชีวกมาเร็วไว” พวกมหาดเล็กกราบทูลว่า “หมอชีวกะหนีออกจากพระนครไปโดยช้างพังภัททวดีแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”

ในสมัยนั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชตมีราชบุรุษชื่อกาโก ซึ่งมีความสามารถพิเศษเดินทางได้วันละ ๖๐ โยชน์  พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสสั่ง กาโก ราชบุรุษ ว่า “ราชบุรุษกาโก เจ้าจงไปเชิญหมอชีวกะกลับมา ด้วยอ้างว่าพระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้เชิญท่านกลับไป ขึ้นชื่อว่า หมอพวกนี้มีมารยามาก เจ้าอย่ารับวัตถุอะไร ๆ ของเขา”

ในขณะที่หมอชีวกะฯ ซึ่งกำลังจะรับประทานอาหารมื้อเช้า ได้ไปเก็บมะขามป้อมกำมือหนึ่ง ปล่อยให้ช้างหากินใบไม้และน้ำ ใกล้บริเวณนั้น และตั้งใจนั่งรอคนของพระเจ้าจัณฑปัชโชตเพื่อส่งช้างพังภัททวดีกลับคืนพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในระหว่างทางใกล้เขตพระนครโกสัมพี

ในขณะนั้น กาโก ราชบุรุษได้เดินมาทันหมอชีวกโกมารภัจจ์ จึงได้ถามหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า “ท่านหมอชีวกะฯ  พระเจ้าอยู่หัว ตรัสสั่งให้เชิญท่านกลับไป”

หมอชีวกโกมารภัจจ์พูดว่า  “ราชบุรุษกาโก ท่านจงรอสักครู่เรากำลังจะรับประทานอาหาร
เชิญท่านรับประทานอาหารด้วยกันเถิด”

ราชบุรุษกาโกพูดว่า “ช่างเถิดท่านหมอชีวกะฯ  พระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งข้าพเจ้าไว้ว่า ขึ้นชื่อว่า
หมอพวกนี้มีมารยามาก อย่ารับวัตถุอะไรของเขา” เพียงแต่เดินทางมาไกล รู้สึกกระหายน้ำมาก

ขณะนั้น หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้แทรกยาถ่ายที่เล็บ พลางเคี้ยวมะขามป้อม และดื่มน้ำตาม
แล้วได้เชิญกาโกราชบุรุษว่า “ราชบุรุษกาโก  เชิญเคี้ยวมะขามป้อมแก้กระหายน้ำแล้วดื่มน้ำตาม หมอเขาห้ามคนเดินทางมาไกลตากแดดมาร้อนๆ ดื่มน้ำทันทีทันใดจะทำให้เกิดโรค”

กาโกราชบุรุษคิดว่า หมอชีวกะฯ กำลังเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำ คงไม่ให้โทษอะไร
แล้วจึงเคี้ยวมะขามป้อมครึ่งผล และดื่มน้ำในกระบอกหมอชีวกะฯ ตามเข้าไป
มะขามป้อมครึ่งผลกับยาถ่ายที่เขาเคี้ยวกินนั้นได้รู้สึกปวดท้อง และถ่ายอุจจาระออกมาในที่นั่นเอง

ในขณะนั้น กาโกราชบุรุษ ได้เรียนถามหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า “ท่านหมอชีวกะฯ  ชีวิตของข้าพเจ้าจะรอดหรือไม่ ?”

ชีวกโกมารภัจจ์ตอบว่า “อย่ากลัวเลย กาโก ท่านจะไม่ตาย เป็นยาถ่ายไม่ใช่ยาพิษ นึกเสียว่าได้ถ่ายสิ่งที่หมกหมมในท้องมานาน ท่านอย่าได้ตกใจ ต่อไปท่านจะมีสุขภาพดีมาก สามารถเดินทางได้วันละ ๗๐ โยชน์ ข้าพเจ้ามีความจำเป็นต้องทำเช่นนี้ เพราะว่าเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงเกรี้ยวกราด อาจตรัสสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้  เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่กลับไป” ได้มอบช้างพังภัททวดีแก่ราชบุรุษกาโกขี่กลับอุชเชนี

ท่านหมอชีวกะฯ ได้เดินทางกลับพระนครราชคฤห์ รอนแรมไปโดยลำดับ จนถึงพระนครราชคฤห์แล้วเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารฯ ได้กราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้นที่อุชเชนีและระหว่างเดินทางให้ทรงทราบ

พระเจ้าพิมพิสารฯ ตรัสสั่งว่า “เจ้าไม่กลับไปอุชเชนีนั้นถือได้ทำถูกแล้ว พระราชาองค์นั้นเหี้ยมโหด อาจสั่งให้สำเร็จโทษเจ้าเสียก็ได้”

ในกาลต่อมาพระเจ้าจัณพปัชโชตทรงหายประชวร พระวรกายเป็นปกติดีแล้ว ทรงระลึกถึงความสามารถของท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์  จึงตรัสสั่งให้ราชทูตนำสิ่งของเครื่องใช้มีค่านานาประการไปให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ ที่กรุงราชคฤห์ เป็นค่าตอบแทน

ในกาลต่อมา พระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ผ้าเนื้อดีชั้นเลิศ ชื่อผ้าสิวัยกะ เป็นงานหัตถกรรมของชาวกาสี เมืองหลวงพาราณสี  มีชื่อว่าเยี่ยมกว่าผ้าอื่นๆ ทรงให้ราชทูตนำมาพระราชทานให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ ๒ พับเป็นค่าตอบแทนน้ำใจ 

หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้พิจารณาเห็นว่าผ้าสิวัยกะที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตส่งมาพระราชทาน เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ มีชื่อว่าเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระเจ้าพิมพิสารฯ แล้วใครอื่นไม่ควรอย่างยิ่งเพื่อที่ใช้ผ้าสิวัยกะ จึงไม่ใช้ แต่เก็บไว้เพื่อนำไปถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

บำบัดโรคหมักหมมอันเป็นโทษในกายพระผู้มีพระภาคเจ้า
ในสมัยหนึ่ง พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ พระผู้มีพระภาครับสั่งท่านพระอานนท์ว่า “ท่านอานนท์ กายของเราหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ เราต้องการจะฉันยาถ่าย”ท่านพระอานนท์เดินไปหาหมอชีวกโกมารภัจจ์ เมื่อพบแล้วได้กล่าวกับชีวกโกมารภัจจ์ว่า “ท่านหมอชีวกะฯ พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ พระองค์
ต้องการจะเสวยพระโอสถถ่าย”

หมอชีวกโกมารภัจจ์กล่าวว่า “พระคุณเจ้า ถ้าอย่างนั้น ขอท่านจงโปรดทำพระกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่นสัก ๒-๓ วัน”   พระอานนท์ได้ทำพระกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่น ๒-๓ วันแล้ว เดินไปหาหมอชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า
“ท่านหมอชีวกะฯ พระกายของพระผู้มีพระภาคชุ่มชื่นแล้ว บัดนี้ท่านรู้ว่าจะทำอะไรต่อไป”

ในครั้งนั้น หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความวิตกกังวลว่า
“การที่เราจะทูลถวายพระโอสถ ถ่ายที่หยาบแด่พระผู้มีพระภาคนั้น ไม่สมควรเลย
เราควรอบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วทูลถวายพระพุทธองค์”
ครั้นได้อบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้ว

จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทูลถวายก้านอุบล
ก้านที่หนึ่งแด่พระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๑ นี้
การทรงสูดก้านอุบลนี้ จะทำให้พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง”

แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดอุบลก้านที่ ๒ นี้
การทรงสูดก้านอุบลนี้ จะทำให้พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง”

แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๓ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๓ นี้
การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง
ด้วยวิธีนี้ พระผู้มีพระภาคจะทรงถ่ายรวม ๓๐ ครั้ง”

ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว
ถวายบังคมลา พระผู้มีพระภาค กระทำเวียนขวากลับออกไป

ขณะเมื่อหมอชีวกโกมารภัจจ์เดินออกไปนอกซุ้มประตูแล้วได้มีความวิตกกังวลว่า
“เราทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง
พระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จะไม่ทำพระผู้มีพระภาคถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง  จะทรงถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วจักสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้ว จักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง
โดยรวมแล้ว พระผู้มีพระภาคจะทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง

ในขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความวิตกกังวลในจิตใจของหมอชีวกโกมารภัจจ์ด้วยพระทัยแล้ว จึงรับสั่งกับพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ หมอชีวกโกมารภัจจ์ กำลังเดินออกนอกซุ้มประตูวิหารนี้ได้มีความวิตกกังวลว่าได้ถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว พระกายของพระองค์หมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จะไม่ทำให้พระผู้มีพระภาคถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จะทำให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วจะสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้วจักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคจะทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง อานนท์ถ้าอย่างนั้น เธอจงจัดเตรียมน้ำร้อนไว้ "
พระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว จัดเตรียมน้ำร้อนไว้ถวาย

ต่อมาหมอชีวกโกมารภัจจ์ไปที่พุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วหรือ พระพุทธเจ้าข้า  พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราถ่ายแล้ว ท่านหมอชีวกะ”

หมอชีวกโกมารภัจจ์กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ากำลังเดินออกไปนอกซุ้มประตูพระวิหารนี้ ได้มีความวิตกกังวลว่า “เราถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อให้ทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง แล้วพระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จะไม่ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วจะสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้วจักถ่ายอีกครั้งหนึ่งอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงโปรดสรงพระกาย”

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรงน้ำอุ่น ครั้นสรงแล้ว ทรงถ่ายอีกครั้งหนึ่งอย่างนี้ เป็นอันว่าพระผู้มีพระภาคทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง  หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูล แด่พระผู้มีพระภาคว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคไม่ควรเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผักต่างๆ จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ”

เมื่อพระกายของพระผู้มีพระภาคได้หายเป็นปกติแล้ว พระมหาโมคคัลลานะได้นำบิณฑบาตเป็นข้าวสุกจากข้าวสาลีหอมราดด้วยน้ำนมสดจากเรือนของบุตรเศรษฐีชื่อโสณะ(ต่อมาคือพระโสณะโกฬิวิสะ) มีการอบบาตรด้วยของหอมด้วย ซึ่งเทวดาแทรกโอชาลงในบิณฑบาตทีละคำด้วย (ซึ่งเทวดาแทรกโอชารสลงในอาหารที่ยังอยู่ในภาชนะ ๒ ครั้ง คือ บิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายคราวตรัสรู้ และบิณฑบาตที่นายจุนทกัมมารบุตรถวายคราวปรินิพพาน)

พระโมคคัลลานะนำบิณฑบาตส่งกลิ่นหอมมา พระเจ้าพิมพิสารฯ ทรงได้กลิ่นบิณฑบาตจนอยากเสวย พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของพระราชาแล้ว ตรัสให้ถวายอาหารนั้นหน่อยหนึ่ง ซึ่งเทวดายังไม่ได้แทรกโอชาลงไป พระราชาตรัสถามว่า เป็นอาหารจากอุตตรกุรุทวีปหรือ ?

พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า เป็นบิณฑบาตที่นำมาจากบ้านของโสณะผู้เป็นบุตรเศรษฐี ผู้ละเอียดอ่อนมีขนขึ้นที่ฝ่าเท้า ทำให้พระเจ้าพิมพิสารฯเสด็จไปทอดพระเนตร

ต่อมา โสณะและกุลบุตร ๘๐,๐๐๐ คน ออกบวช พระพุทธเจ้าตรัสให้แบ่งอาหารให้พระราชาก็เพื่อประโยชน์อันนี้

ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์กราบทูลขอพรให้พระสงฆ์รับจีวรที่มีผู้ถวายได้

ในครั้งหนึ่ง ชีวกโกมารภัจจ์ ถือผ้าสิวัยกะคู่หนึ่งไปที่พุทธสำนัก เมื่อถึงแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง หมอชีวกโกมารภัจจ์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูล แด่พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจะขอประทานพรต่อพระผู้มีพระภาคสักอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “พระพุทธเจ้าทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว ท่านหมอชีวกะ”
ชีวกโกมารภัจจ์กราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “จงว่ามาเถิด ท่านหมอชีวกะ”
ชีวกโกมารภัจจ์กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคและพระสงฆ์ทรงถือผ้าบังสุกุลเป็นปกติอยู่  ผ้าสิวัยกะของข้าพระพุทธเจ้าคู่นี้ พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงส่งมาพระราชทาน เป็นผ้าเนื้อดีเลิศประเสริฐมีชื่อเสียงเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงพระกรุณาโปรดรับ ผ้าคู่สิวัยกะของข้าพระพุทธเจ้า และขอจงทรงพระพุทธานุญาต คหบดีจีวร  (คือจีวรที่มีผู้ถวาย) แก่พระสงฆ์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้าคู่สิวัยกะแล้ว ครั้นแล้วทรงชี้แจงแสดงธรรมให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ เห็นแจ้ง  สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมมิกถา ครั้นเมื่อพระพุทธองค์แสดงธรรมจบแล้ว ในครั้งนั้นพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล เป็นพระอริยะบุคคลชั้นต้น

หลังจากหมอชีวกะกราบลากลับไปแล้ว พระองค์ทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคหบดีจีวร รูปใดปรารถนาจะถือผ้าบังสุกุลก็จงถือเอา
รูปใดปรารถนาจะรับคหบดีจีวรก็จงรับเอา แต่เราสรรเสริญการยินดีในปัจจัยตามมีตามได้”
อรรถกถาจารย์ว่า ภายหลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้จนถึง ๒๐ ปี ต่อมาภิกษุทั้งหลายใช้กันแต่ผ้าบังสุกุล  (คือผ้าที่คนทิ้งไว้ ภิกษุไปเก็บมาแล้ว ตัด เย็บ ย้อม นุ่งห่ม) หมอชีวกะจึงกราบทูลขอพรอย่างนั้น


ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ กราบทูลถวายผ้ากัมพล
ในสมัยต่อมา พระเจ้ากาสี ราชาแห่งแคว้นกาสี (เป็นน้องร่วมพระบิดาเดียวกับพระเจ้าปเสนทิโกศล) ทรงพระราชทานผ้ากัมพล (ผ้าทอด้วยขนสัตว์)  มีราคา ๕๐๐ หรือ ครึ่งกาสี แก่หมอชีวกโกมารภัจจ์ หมอชีวกะฯ จึงนำผ้ากัมพลเข้าเฝ้า กราบทูลถวายแด่พระพุทธเจ้าว่า
“ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงพระกรุณาโปรดรับผ้ากัมพลของข้าพระพุทธเจ้า
เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าตลอดกาลนานเทอญ พระพุทธเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าทรงรับและอนุญาตให้ภิกษุรับผ้ากัมพลได้ รวมทั้งผ้าที่ควรแก่ภิกษุทั้งหลายด้วย
อรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ๑,๐๐๐ เรียกว่า ๑ กาสี  ผ้ากัมพลมีราคา ๑,๐๐๐ เรียกว่ามีค่า ๑ กาสี
ผ้ากัมพล ผืนนี้ราคา ๕๐๐ จึงเรียกว่า ครึ่งกาสี

หมอชีวกโกมารภัจจ์ผู้บรรลุพระโสดาบัน สร้างวัด อัมพวัน ถวายพระพุทธเจ้า
ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ คิดว่าควรจะได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อจะได้รับพระธรรมที่พระองค์ทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หมอชีวกะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าเพื่อทำการอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าวันละ ๒ ครั้ง เพื่อจะได้ฟังธรรมปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเห็นว่า วัดพระเวฬุวันไกลเกินไปจากบ้านที่หมอชีวกะพักอาศัย จึงได้คิดว่าสวนมะม่วง (อัมพวัน) ที่ได้รับพระราชทานมาจากพระเจ้าพิมพิสารมคธินทราราชนั้นอยู่ใกล้และสะดวกกว่า จึงได้สร้างวัดถวายในอัมพวัน คือ สวนมะม่วงของตนเรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวัน ของหมอชีวก) แล้วให้สร้างศาลาที่ประชุมสงฆ์ กุฏิเป็นหลังๆ บ่อน้ำ โรงแสดงธรรมเทศนา สถานที่วิเวกบำเพ็ญสมณะธรรม  ที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน ให้สร้างพระคันธกุฏิที่เหมาะสมกับพระพุทธเจ้า

หลังจากนั้นให้สร้างกำแพงล้อมรอบสวนอัมพวันไว้ สร้างเสร็จแล้วได้อาราธนานิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขฉันภัตตาหารและรับจีวร แล้วหลั่งน้ำลงที่ฝ่าพระหัตถ์ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแบรับเป็นเครื่องหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมอบถวายวิหารอัมพวันให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระสงฆ์ 

วัดแห่งนี้มีชื่อเรียกในหมู่ชนชาวกรุงราชคฤห์ตามชื่อเดิมของสวนมะม่วงว่า วัดอัมพวนารามบ้าง วัดชีวกัมพวนารามบ้าง วัดชีวกกัมพวันบ้าง

หมอชีวกะได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นที่
บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย

ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งเป็นผู้สร้างวัด และเป็นผู้อุปถัมภ์วัดนี้ไปจนตลอดชีวิต และได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวันละ ๒ เวลา เช้า-เย็น สมความประสงค์ และได้ดูแลพระภิกษุสงฆ์ให้มีปัจจัย ๔ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผล พระภิกษุสงฆฺ์เป็นพระอริยบุคคลเป็นส่วนมาก

ท่านหมอชีวกะฯ ทูลขอไม่ให้บวชคนที่มีโรคติดต่อระบาดร้ายแรง ๕ ชนิด
ครั้นหนึ่ง มีโรคระบาดร้ายแรงในเมืองมคธ นครราชคฤห์ และเมืองใกล้เคียง ๕ ชนิด คือ
๑. โรคเรื้อน (กุฏฐัง)
๒. โรคฝี หรือฝีดาษ (คัณโท)
๓. โรคกลากเกลื้อน (กิลาโส)
๔. โรคมองคร่อ หรือหวัดในปอด มีเสมหะแห้งอยู่ในหลอดลม (โสโส)
๕. โรคลมบ้าหมู ชักเป็นครั้งคราว (อปมาโร)

ในครั้งนั้น มีคนเป็นโรคติดต่อระบาดร้ายแรงเข้ามาบวชเป็นจำนวนมาก ทำให้โรคติดต่อในหมู่สงฆ์  เมื่อหมอชีวกโกมารภัจจ์ บำบัดรักษาให้หายแล้ว ก็ลาบวชเสีย เป็นการเข้ามาบวชเพื่อรับการรักษาโรค   เมื่อได้โอกาสเหมาะหมอชีวกโกมารภัจจ์จึงเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทูลเล่าเหตุการณ์ที่คนมีโรคติดต่อชนิดใดชนิดหนึ่งใน ๕ ชนิด เข้ามาบวชในพุทธศาสนา นำแล้วทูลถวายความเห็นว่า "ฝ่าพระบาทควรทรงวางบทบัญญัติห้ามบวชคนเป็นโรคติดต่อดังกล่าวเสีย" พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "เห็นชอบแล้ว เราจะห้ามตามความประสงค์ของท่าน เป็นการเสียหายแก่หมู่สงฆ์มากจริง" เมื่อหมอชีวกะฯ ลากลับแล้ว

พระพุทธเจ้าทรงตรัสบัญชาให้ประชุมพระสงฆ์ และประทับในหมู่สงฆ์ทรงแสดงโทษคนที่มีโรคติดต่อ  แล้วทรงวางบทบัญญัติห้ามเด็ดขาดเป็นอันตรายิกธรรมมขัดต่อความเป็นพระภิกษุ ไม่ให้สงฆ์หรือภิกษุรูปใดรับคนเป็นโรคติดต่อเข้าบวชตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนถีอว่ามีโทษเป็นอาบัติตามพระพุทธบัญญัติ แล้วทรงเลิกการประชุมพระสงฆ์


No comments:

Post a Comment