Search This Blog / The Web ต้นหาบล็อกนี้ / เว็บ

Monday, May 14, 2018

หมอพื้นบ้านสมัยโบราณ ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

หมอพื้นบ้านสมัยโบราณ ตำบลเชิงทะเล 

อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต


จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม
และเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจด้านหมอแผนโบราณ

หมอพื้นบ้านของหมู่บ้านเชิงทะเลในสมัยโบราณที่รู้จัก
1.พ่อเฒ่าลิมกุ่ย   ลิมสร้าง
2. แม่เฒ่าชีลิ่ว  ลิมสร้าง
3. แม่เฒ่าเจิม  ณ ถลาง

พ่อเฒ่าลิมกุ่ย ลิมสร้าง (หมอพื้นบ้าน)


          พ่อเฒ่าลิมกุ่ย  ลิมสร้าง ตาบอด เป็นบุตรนายลิมสร้าง และนางเต้า เป็นหมอพื้นบ้าน แผนโบราณ ตำบลเชิงทะเล อ. ถลาง จ. ภูเก็ต ช่วยเหลือชาวบ้านด้วยความรู้ด้านจับยาม 3 ตา สามารถบอกเกี่ยวกับสัตว์ สิ่งของหรือคนสูญหายได้ มีกริชเพชรฉลูกรรณ์ซึ่งเป็นมีดหมอ และได้ประทับทรง ตาหลวงรงค์ ตาหลวงรอง ตาหลวงดาบทอง ครูหมอเพชรฉลูกรรณ์ เจ้าแม่ขุนนาง เจ้าแม่นางงาม รักษาโรคให้ชาวบ้านด้วยสมุนไพร ครูหมอผู้เป็นเทวดาเข้าประทับทรงพ่อเฒ่าลิมกุ่ยช่วยรักษาโรคให้ชาวบ้านในหมู่บ้านเชิงทะเล เวลาจะประทับทรงท่านต้องเชิญครูหมอทุกองค์ว่า "หลวงรงค์ หลวงรอง ตาหลวงดาบทอง เพชรฉลูกรรณ์ แม่ขุนนาง แม่นางงาม"  ผ่านไปสักครู่ ครูหมอก็มาประทับทรง

           ถ้ามีคนมีระดูประจำเดือนอยู่ในที่นั้น ครูหมอจะไม่เข้าประทับทรง ต้องให้คนมีระดูประจำเดือนออกไปจากที่นั่นเสียก่อน ครูหมอจึงมาเข้าประทับทรง 

             เมื่อสมัยเด็กได้เคยอยู่กับท่าน วันหนึ่งมีคนกรีดยางทำสร้อยทองหาย มาหาท่านให้ท่านจับยาม 3 ตาดูว่าสร้อยทองอยู่ที่ไหน ท่านบอกว่า ตกหล่นอยู่ที่ใต้ขอนไม้ที่ไปนั่งพักกินกาแฟขณะพักกรีดยาง คนที่มาหารีบไปหาที่ใต้ขอนไม้ที่นั่งกินกาแฟเมื่อเช้าก็เจอสร้อยทองที่ตนทำหล่น ก็ดีใจและกลับมาบอกท่านว่าเจอสร้อยทองแล้ว ดังนี้เป็นต้น

             ท่านเสียชีวิต  เมื่ออายุประมาณ 96 ปี ได้ทำพิธีฌาปนกิจที่วัดเชิงทะเล สัปเหร่อชื่อสูน เผาร่างของพ่อเฒ่าลิมกุ่ย แต่ไม่ไหม้ไฟ จนฟืนจะหมดกองแล้ว จีงไปบอกพ่อท่านพลับเจ้าอาวาสวัดเชิงทะเล พ่อท่านพลับเข้าฌานดูทางในได้เห็นเทวดาเฝ้าร่างพ่อเฒ่าลิมกุ่ยอยู่จึงไม่ไหม้ไฟ พ่อท่านพลับจึงทำพิธีตั้งศาลเพียงตาขอเทวดาเผาร่างพ่อเฒ่าลิมกุ่ย หลังจากนั้นร่างพ่อเฒ่าลิมกุ่ยจึงไหม้ไฟได้เหลือแต่ขี้เถ้ากับกระดูก

           

 แม่เฒ่าชีลิ่ว ลิมสร้าง (หมอพื้นบ้าน)

แม่เฒ่าชีลิ่ว  ลิมสร้าง เป็นบุตรนายเลียจุย และนางมุ่ย เป็นหมอพื้นบ้าน แผนโบราณ รักษาด้วย คาถา น้ำหมาก น้ำมนต์ และสมุนไพรปลูกไว้รอบบ้าน มีหัวไพล ขมิ้น กะทือ ข่า ตะไคร้ กระดูกไก่ดำ (เฉียงพร้า) พญาไร้ใบ (ค้างติก) เทียนกิ่ง เท้ายายม่อมดอกขาวและดอกแดง อุตพิด มะกรูด มะนาว ส้มส้า สำโรง มะพร้าว กล้วย ส้มเช้า ใบเงิน ใบทอง หมาก พลู ปูนแดงกินกับหมาก พิมเสน ฯลฯ และกะลามะพร้าวตาเดียวใช้รักษาตาต้อด้วยการเอากริชเพชรฉลูกรรณ์ตัดเนื้อ หรือข้าวสารที่ปากรูกะลามะพร้าวตาเดียวที่ครอบตาคนเป็นตาต้อ ท่านมีคาถาตัดต้อ รักษาคนเป็นตาต้อ ในตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

        ทั้งสองท่านเป็นสามีภรรยา มีที่ดินปลูกยางพารา ให้ยายสวดเป็นคนตัด/กรีดยาง รายได้นำมาเลี้ยงครอบครัว  ส่วนค่าครูหมอรักษาโรคหรือค่าตอบแทนที่ช่วยเหลือชาวบ้านนั้น ใส่พานตั้งไว้ที่สูงข้างฝาเหนือหัวนอน มีพานใส่ หมากพลู พานใส่มีดหมอกริชเพชรฉลูกรรณ์  แม่เฒ่าชีลิ่วนำไปถวายวัดทุกวันพระไม่ได้ขาด แม่เฒ่าชีลิ่วไปสวดมนต์และนั่งสมาธิที่กุฏิแม่เฒ่าชีชิบในวัดเชิงทะเลเป็นประจำ ในสมัยพ่อท่านพลับเป็นเจ้าอาวาส สมัยเป็นเด็กแม่เฒ่าชึลิ่วได้พาไปไหว้พระสวดมนต์แล้วนอนที่กุฏิแม่เฒ่าชีชิบ คืนหนึ่งฝันว่ามีคนมาดึงเท้าจึงตกใจตื่น ได้เห็นแม่เฒ่าชีทั้งสองนั่งสมาธิภาวนา จึงรู้ว่าท่านนั่งสมาธิภาวนาก่อนนอนเป็นกิจวัตร

ท่านทั้งสองมีชีวิตอยู่ประมาณต้นปี 2400 ถึงต้นปี 2500 สถานที่อยู่ในสมัยนั้น คือ บ้านในเมือง หมู่ที่ 1 ต. บางเทา อ. เมืองถลาง จ. ภูเก็ต  ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นหมู่บ้านเชิงทะเล  หมู่ที่ 1 ต. เชิงทะเล  อ. ถลาง   จ. ภูเก็ต

ผู้เรียบเรียงจัดทำเป็นเหลนของหมอพื้นบ้านทั้งสองท่าน ได้เคยอยู่กับท่านเมื่อสมัยเด็กๆ ได้เดินเท้าเปล่าเหยียบในน้ำครำสกปรกมีพยาธิอาศัยอยู่ ทำให้เท้าบวมเขียวมีเส้นเหมือนทางเดินพยาธิ แม่เฒ่าชีลิ่วพ่นน้ำหมากให้ไม่กี่ครั้งก็หาย วันหนึ่งอวัยวะเพศบวมไม่ทราบสาเหตุ ท่านถามว่าไปถ่ายปัสสาวะที่ไหนมาจึงไข่บวม บอกท่านว่าใต้ต้นมะไฟใกล้จอมปลวกหลังบ้าน ท่านว่า ให้เอาธูปเทียนไปขอขมาลาโทษเจ้าที่เสีย จึงไปทำตามท่านบอก อวัยวะเพศที่บวมก็หายปกติ วันหนึ่งเป็นฝีที่ขาอ่อน ไปหาท่านๆบอกให้เอาน้ำลายที่เพดานปากทาตอนเช้าๆไม่กี่วันก็หาย เมื่อตามัวๆมองไม่ชัดไปหาท่านๆ ให้เอาพิมเสนบดละเอียดป้ายที่มุมตา ก็ทำให้ตาสว่างเห็นชัดขี้น สมัยเด็กๆ มีผื่นคันตามตัว ท่านให้ใช้ใบพลูขยี้ๆทาก็หายคัน ถ้ามียุงกัดแล้วคันมาก ท่านก็เอาปูนแดงที่กินกับหมากทาให้ก็หายคัน เวลามีเลือดกำเดาออกทางจมูก ก็เอาใบพลูมาทำให้ปลายแหลมๆแล้วขยี้สูดดม เลือดกำเดาก็หยุดไหลออก ถ้าเป็นฝีใช้ใบอุตพิดม้วนแล้วคลึงให้นิ่มแล้วคลี่ออกปิดหัวฝีสัก1-2ครั้งฝีก็ยุบ น้าชายเล่าว่า วันหนึ่งมีดบาดเป็นแผลเลือดออก แม่เฒ่าชีลิ่วบอกให้เอา ใบสุมไส (ใบสาบเสือ) มาขย้ำบีบเอาน้ำใส่แผลสด เลือดก็หยุดไหลออก และแนะนำให้เอายางค้างติดมาทาหัวหูดก่อนทาให้เอาไม้ไผ่บางๆเช็ดให้สะอาดขูดที่หัวหูดให้เลือดซึมออกเล็กน้อยแล้วทาด้วยยางค้างติก (พญาไร้ใบ) ทุกเช้า หัวหูดก็จะหดหายไป ถ้ามีปลิงหรือทากกัด ให้เอาเส้นยาฉุนชุบน้ำพอกไว้สักครู่ปลิงและทากก็จะหลุดออกไป สมัยเป็นเด็กเห็บและแมงคามักเข้าหู ท่านให้เอายาฉุนผสมน้ำหยอดลงในหูเอียงคอไว้สักพักจนเห็บและแมงคาหลุดออกมา ท่านให้ป้องกันเห็บและแมงคาเข้าหูด้วยการเอาขากรรไกรคีบหมากเข้าไปหมุนในหู ท่านว่าเห็บและแมงคาจะไม่เข้าหู เวลาน้ำเข้าหู ท่านให้เอาน้ำหยอดลงในหู แล้วเอียงคอให้น้ำออกมา จะเห็นได้ว่าภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านแผนโบราณมีประโยชน์มากประหยัดเงินในครอบครัว ดูแลตัวเองได้ไม่ต้องไปแน่นที่โรงพยาบาลใช้ยาต่างชาติดังนี้เป็นต้น

แม่เฒ่าเจิม ณ ถลาง (แม่ทานหรือหมอตำแย)

แม่เฒ่าเจิม ณ ถลาง เป็นแม่ทานหรือหมอตำแย ประจำหมู่บ้านเชิงทะเล ถือว่าเป็นหมอพื้นบ้าน มีความรู้ด้านคัดท้องเด็กที่มีสายสะดือพันคอ และทำคลอด ใช้คาถา ทำน้ำมนต์ให้ดื่มช่วยให้คลอดบุตรได้ง่าย บุตรชายของแม่เฒ่าเจิมชื่อโกจ๋ายเล่าให้ฟังว่า คนกำลังจะคลอดลูกที่บ้านสะปำคลอดลูกไม่ออกหรือออกยาก ให้คนมาเรียกแม่เฒ่าเจิมไปช่วยทำคลอดให้ แม่เฒ่าเจิมทำน้ำมนต์ให้ดื่ม ไม่นานก็คลอดบุตรออกอย่างง่ายดาย 

ผู้เรียบเรียงหรือผู้จัดทำ ได้เป็นลูกยกของท่าน มารดาได้ยกให้แม่เฒ่าเจิมหลังคลอด และได้อยู่กับแม่เฒ่าเจิม ประมาณ 6 เดือน เพราะสายสะดือพันคอ สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ต้องให้แม่เฒ่าเจิมเลี้ยงแทนมารดา ท่านจึงเป็นแม่คนที่สอง เมื่อโตแล้วก็ไปเยี่ยมท่านบ่อยๆ ท่านชอบกินหมากจนปากแดง เรียกให้เข้าไปหาท่านเสมอ ว่า ลูกมาหาแม่ๆ ก็ไปนั่งใกล้ท่านแม่เฒ่าเจิมได้จากโลกนี้ไปเมื่ออายุ 93 ปี ท่านได้ทำคลอดให้คนมากมายและมีลูกที่เขายกให้หลายคนท่านเป็นแม่ทานหมอพื้นบ้านช่วยให้คนคลอดบุตรมีชีวิตได้อย่างน่ายกย่องสรรเสริญ
                  
                 

No comments:

Post a Comment