Search This Blog / The Web ต้นหาบล็อกนี้ / เว็บ

Sunday, January 17, 2016

พระพุทธศาสนากับการแพทย์แผนไทย

พระพุทธศาสนากับการแพทย์แผนไทย

จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพระบิดาจนบรรลุอรหันต์

พระพุทธองค์ทรงพยาบาลภิกษุอาพาธ
พระพุทธศาสนาให้ประโยชน์แก่ชาวโลกมากมาย เพื่อบำบัดทุกขเวทนาทั้งร่างกายและจิตใจ
ท่านว่าคนเกิดมาก็เป็นทุกข์ แก่ก็เป็นทุกข์ เจ็บป่วยก็เป็นทุกข์ ตายก็เป็นทุกข์อีก
คนประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ เรียกว่า ขันธ์ห้า หรือรูป และนาม ท่านว่าเป็นภาระหนักยิ่ง
ร่างกายของคนประกอบด้วยสิ่งที่เห็นหรือสัมผัสได้ท่านเรียกว่า รูป ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย เพราะว่าธาตุไม่สมดุล ธาตุกำเริบ ธาตุหย่อน ธาตุพิการ
ธาตุดิน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอุจจาระ เยื่อสมอง และมดลูก (มีเฉพาะสตรี)
ธาตุน้ำ ได้แก่ น้ำดี น้ำเสลด น้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำปัสสาวะ
ธาตุลม ได้แก่ ลมขึ้นข้างบนทำให้เรอ ลมลงข้างล่างทำให้ผายลม ลมในท้องนอกลำไส้
ลมในลำไส้และกระเพาะอาหาร ลมโคจรทั่วร่างกาย และลมหายใจเข้าหายใจออก
ธาตุไฟ ได้แก่ ไฟทำให้ร่างกายอบอุ่น ไฟทำให้ร้อนทั่วร่างกาย ไฟย่อยอาหาร และไฟทำให้ร่างกายเหี่ยวแห้งแก่ชรา
จิตใจของคนประกอบด้วยสิ่งมองไม่เห็น เรียกว่านาม ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
เวทนา ได้แก่ ความรู้สึก สุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์
สัญญา ได้แก่ ความจำได้ หมายรู้ในสิ่งต่างๆ
สังขาร ได้แก่ ความคิดดี ความคิดไม่ดี และความคิดกลางๆ
วิญญาณ ได้แก่ ความรู้ในสิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส
ใจรู้กุศลธรรม อกุศลธรรม และธรรมซึ่งเป็นกลางๆ
          ท่านว่า คนมีความทุกข์ทางกายต้องรักษาด้วยยาสมุนไพร  ส่วนคนที่มีความทุกข์ทางใจต้องรักษาด้วยธรรมโอสถ

โรคที่เกิดทางกายในพระพุทธศาสนา 
ชื่อโรคในพระไตรปิฎก เช่น โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคปวดศีรษะ โรคในหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้ทรพิษ ไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ  โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคกลาก โรคมองคร่อ (หวัดในปอด) โรคฝี โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราดหูด โรคหูด โรคละลอก โรคคุดทะราดบวม อาเจียนเป็นโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงทวาร  อหิวาตกโรค  โรคหน่อที่เท้า  โรคหิด โรคตุ่ม โรคกลิ่นตัวแรง โรคอมนุษย์เข้าสิง โรคลม โรคลมขัดยอกตามข้อ โรคเท้าแตก เนื้องอก  เป็นแผล  โรคพิษแมลงสัตว์กัดต่อย โรคพิษงู โรคโดนยาแฝด โรคท้องผูก โรคผอมเหลือง ซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง (ดีซ่าน)
เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง
โรคลมในท้อง ถ่ายเป็นโลหิต โรคกรรม เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดโรคทางกาย
สาเหตุเกิดโรคทางกาย เช่น โรคเกิดจากดี เสมหะ ลม ไข้สันนิบาต ฤดูแปรปรวน การบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ การใช้ความเพียรเกินกำลัง หนาว ร้อน หิวกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ธาตุ ๔ ไม่สมดุล  การไม่รู้ประมาณในการบริโภค เหลือบยุง และสัตว์กัดต่อย งูกัด ถูกทำร้าย อุบัติเหตุ การมีอายุมาก และเกิดจากผลของกรรม
พระพุทธองค์ทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา แล้วก็ตาม ได้ตรัสว่า พระองค์ทรงแก่ชรา แม้จะทรงเจ็บป่วยอย่างหนัก ก็ไม่ทำให้พระองค์หลงลืมสติปัญญา พระองค์เสด็จด้วยพระบาทจาริกไปเผยแผ่ธรรมตามที่ต่างๆ จนช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต ขณะที่พระองค์ทรงประชวรหนัก ด้วยโลหิตปักขันทิกาพาธ (ถ่ายเป็นพระโลหิต) ยังทรงสามารถเดินทางไกล จากเมืองปาวา สู่เมืองกุสินารา ซึ่งเป็นสังเวชนียสถานที่ปรินิพพานได้
โรคที่เกิดจากผลของกรรม
โรคที่เกิดจากผลของกรรม แพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุและวินิจฉัยโรคนี้ได้ เรียกว่า โรคที่รักษาไม่หาย หรือ โรคที่รักษายาก  ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า โรคกรรม จะรักษาอย่างไร ใช้ความพยายามแค่ไหน ใช้ทรัพย์สินมากมายก็ไม่หาย จนกว่าจะหมดกรรมนั้น
สมัยพุทธกาล เมื่อภิกษุสงฆ์ป่วย พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้มีเภสัชยาสมุนไพร ไว้ใช้บำบัดตามความจำเป็น มีดังนี้
             ๑)  เภสัช ๕  มี เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ใช้เป็นทั้งยาและอาหาร
ทรงอนุญาตให้ภิกษุ เป็นโรคผอมเหลือง ฉันอาหารไม่ได้ รับเก็บไว้ฉันได้นาน ๗ วัน
             ๒) น้ำมันเหลวที่ได้จากหมี ปลา หมู ลา ทรงอนุญาตให้ภิกษุป่วยเป็นไข้รับไว้และฉันในเวลากลางวันเท่านั้น
 ๓)  รากไม้ชนิดต่างๆ ที่เป็นยา เช่น ขิงสด ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิด ข่า แฝก แห้วหมู หรือรากไม้ยาชนิดอื่น ที่ไม่ใช่อาหาร ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธรับเก็บไว้ได้ ให้ฉันได้เฉพาะเวลาที่จำเป็น
 ๔)  น้ำฝาดที่เป็นยา ได้จากสะเดา โมกมัน ขี้กา บอระเพ็ด กระถินพิมาน หรือน้ำฝาดยาชนิดอื่นที่ไม่ใช่อาหาร ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธ รับเก็บไว้ได้ ให้ฉันได้เฉพาะเวลาที่จำเป็น
 ๕)  ใบไม้ที่เป็นยา เช่น ใบสะเดา ใบโมกมัน ใบขี้กา ใบแมงลัก ใบฝ้าย หรือใบไม้ยาชนิดอื่น ที่ไม่ใช่อาหาร ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธรับเก็บไว้ได้ ให้ฉันได้เฉพาะเวลาที่จำเป็น
 ๖)  ผลไม้ที่เป็นยา เช่น ลูกพิลังกาสา ดีปลี พริกไทย สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลโกฐ ที่ไม่ใช่อาหาร ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธรับเก็บไว้ได้ ให้ฉันได้เฉพาะเวลาที่จำเป็น
 ๗)  ยางไม้ที่เป็นยา เช่น มหาหิงคุ์ ยางเปลือกมหาหิงคุ์  กำยาน เป็นต้น หรือยางยาชนิดอื่นที่ไม่ใช่อาหาร ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธรับเก็บไว้ได้ ให้ฉันได้เฉพาะเวลาที่จำเป็น
 ๘)  เกลือที่เป็นยา เช่น เกลือสมุทร เกลือดำ (เศษเกลือใต้กองติดผิวดิน) เกลือสินเธาว์ เกลือดินโปร่ง เกลือหุง หรือเกลือยาชนิดอื่น ที่ไม่ใช่อาหาร ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธรับเก็บไว้ได้ ให้ฉันได้เฉพาะเวลาที่จำเป็น
  ๙)  ยาผงที่เป็นยา ทรงอนุญาตให้ภิกษุที่เป็นโรคฝีดาษ หิด ตุ่ม พุพอง ใช้ทาเพื่อไม่ให้น้ำเหลืองที่ไหลเยิ้มออกมาไปเกาะติดกับจีวร ผิวหนัง จนทำให้แกะออกลำบาก
 ๑๐) มูลโค ดินเหนียว กากน้ำย้อม ทรงอนุญาตให้ใช้ทาดับกลิ่นตัวแรง
 ๑๑) ยาทาตา ที่ทำด้วยตัวยา เช่น หรดาลกลีบทอง เขม่าไฟ ทรงอนุญาตให้ภิกษุที่เป็นโรคตา ทายาทาตา ยาป้ายตา
 ๑๒) เครื่องผสมยาตา เช่น ไม้จันทน์ กฤษณา กระลำพัก ใบเฉียง แห้วหมู ทรงอนุญาตให้ใช้ยาหยอดตา ยาป้ายตาที่ปรุงด้วยตัวยาดังกล่าวได้ สำหรับรักษาโรคตา
 ๑๓) น้ำมัน ยานัตถุ์ และการสูดควัน โรคปวดร้อนที่ศีรษะ ทรงอนุญาตน้ำมันทาแก้โรคปวดศีรษะ เมื่อยังไม่หายอนุญาตให้นัตถุ์ยา และสูดควันได้
 ๑๔) น้ำมันหุง และน้ำเมาเจือด้วยน้ำมันหุง ทรงอนุญาตให้ฉันน้ำมันหุงและน้ำเมาที่เจือด้วยน้ำมันหุงที่ไม่เกินขนาดได้ สำหรับน้ำมันหุงที่เจือน้ำเมาเกินขนาดทรงอนุญาตให้ใช้ทาเท่านั้น ภิกษุรูปใดดื่มเกินขนาด ต้องอาบัติปาจิตตีย์
 ๑๕) เขาสัตว์กอก ระบายโลหิตออก ทรงอนุญาตให้ใช้เขาสัตว์กอก ระบายโลหิตออก สำหรับแก้โรคลมขัดยอกตามข้อ
 ๑๖) ยาทาเท้า ทรงอนุญาตยาทาเท้า สำหรับโรคเท้าแตก และหากยังไม่หายทรงอนุญาตให้ปรุงน้ำมันทาเท้าได้
 ๑๗) ยามหาวิกัด เช่น คูถ มูตร เถ้า ดิน ทรงอนุญาตให้ผสมน้ำฉันแก้พิษงู
 ๑๘) น้ำดื่มผสมคูถ ทรงอนุญาตให้ฉันแก้ยาพิษ
 ๑๙) น้ำละลายจากดินติดผาลไถ ทรงอนุญาตให้ฉันแก้โรคเสน่ห์ยาแฝด
 ๒๐) น้ำด่างดิบ ทรงอนุญาตให้ฉันแก้โรคท้องผูก
 ๒๑) น้ำสมอดองมูตรโค ทรงอนุญาตให้ฉันแก้โรคผอมเหลือง
 ๒๒) สมุนไพรหอม ทรงอนุญาตให้ลูบไล้สมุนไพรหอม สำหรับแก้โรคผิวหนัง
 ๒๓) ยาถ่าย ทรงอนุญาต สำหรับแก้โรคท้องผูก
 ๒๔) ยาดองโลณโสวีรกะ ได้แก่ ยาที่ปรุงด้วยส่วนประกอบนานาชนิด เช่น มะขามป้อมสด สมอพิเภก ธัญชาติทุกชนิด ถั่วเขียว ข้าวสุก ผลกล้วย หน่อหวาย การเกด อินทผลัม หน่อไม้ ปลา เนื้อ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เกลือ โดยใส่เครื่องยาเหล่านี้ในหม้อ ปิดฝามิดชิด เก็บดองไว้ ๑ วัน ๒ วัน หรือ ๓ วัน เมื่อยานี้สุกได้ที่แล้ว จะมีรส และสีเหมือนผลหว้า ทรงอนุญาตให้ภิกษุไข้ฉันยาดองโลณโสวีรกะได้ตามสบาย แต่ผู้ไม่เป็นไข้ต้องเจือน้ำฉันอย่างน้ำปานะ เป็นยาแก้โรคลมในท้อง โรคไอ โรคเรื้อน โรคผอมเหลือง (ดีซ่าน) โรคริดสีดวง เป็นต้น ในกาลภายหลังภัต คือเที่ยงวันไปก็ฉันได้
 ๒๕) เหง้าบัวและรากบัว พระสารีบุตรใช้ฉันแก้โรคร้อนในกาย
 ๒๖) ก้านอุบลอบ พระพุทธเจ้าได้รับการปรุงถวายจากหมอชีวก ใช้สูดแก้โรคหมักหมม และถ่ายสิ่งที่เป็นโทษในร่างกาย
 ๒๗) เนื้อดิบ และเลือดสด ทรงอนุญาตให้ภิกษุที่อาพาธด้วยโรคอมนุษย์เข้าสิงฉัน เนื้อดิบและเลือดสดได้ (เพราะว่าอมนุษย์ที่เข้าสิงต้องการกิน)
 ๒๘) กระเทียม ตามปกติพระองค์ทรงห้ามฉันกระเทียม เพราะว่าส่งกลิ่นรบกวนผู้มาฟังธรรม ครั้นทรงทราบว่าภิกษุอาพาธด้วยโรคลมเสียดท้อง ฉันกระเทียมแล้วหาย จึงทรงอนุญาตให้ฉันได้เวลาอาพาธ
 ๒๙) น้ำส้ม น้ำผึ้ง เนยใส น้ำอ้อย ทรงอนุญาตให้ใช้รวมกัน สำหรับรักษาโรคลงแดง
 ๓๐) น้ำมูตรเน่าที่ใช้ผสมยาต่างๆ ทรงอนุญาตให้ใช้รักษาโรคผอมเหลือง
 ๓๑) น้ำอ้อย พระพุทธเจ้าทรงประชวรด้วยโรคลม พระอุปัฏฐากได้เตรียมน้ำร้อนให้สรงน้ำ และได้ชงน้ำอ้อยกับน้ำร้อนถวายให้ฉัน (ดื่ม)  
พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์สำหรับใช้ปรุงยาและเก็บรักษายา
พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ปรุงยา และเก็บรักษายา ตามที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก หมวดเภสัชขันธกะ ดังนี้
ก. ครก และสาก เครื่องร่อนยาผง และผ้าร่อนยา กลักยาตา และไม้ป้ายยาตา ภาชนะสำหรับเก็บไม้ป้ายยาตา
ข. กล้องยานัตถุ์ กล้องสูดควัน ฝาปิดกล้องสูดควัน ชนิดที่ทำด้วยกระดูก ทำด้วยงา ทำด้วยเขา ทำด้วยไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ทำด้วยไม้ ทำด้วยยางไม้ ทำด้วยโลหะ ทำด้วยเปลือกสังข์
ค. ลักจั่นที่ทำด้วยโลหะ ทำด้วยไม้ และทำด้วยผลไม้ ใช้บรรจุน้ำมันหุง อ่างน้ำ ใช้ใส่น้ำต้มใบไม้ชนิดต่างๆ ให้ภิกษุอาบหรือแช่รักษาโรคลม และเขาสัตว์สำหรับใช้กอก ระบายโลหิต
ง. กระจก หรือภาชนะ สำหรับตรวจดูแผลบนใบหน้า ผ้ารัดเข่า ไม้แคะหูและของที่ใช้ห่อ ไม้บังเวียน กัปปิยภูมิ

พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ใช้อาหารเป็นยาบำบัดโรคและบำรุงสุขภาพ ดังนี้
. น้ำข้าวใส น้ำต้มถั่วเขียวไม่ข้น น้ำต้มถั่วเขียวข้น น้ำต้มเนื้อ ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธที่ฉันยาถ่าย ใช้บำรุงสุขภาพได้ 
. ข้าวยาคู หรือข้าวต้ม เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงประชวรด้วยโรคลมในพระอุทร พระอานนท์ได้ต้มข้าวยาคู ซึ่งปรุงด้วยข้าวสาร ถั่วเขียว และงาบดถวาย ทรงดื่มแล้วหายจากการประชวร พระพุทธองค์ตรัสว่าข้าวยาคูเป็นยามีประโยชน์ ๕ ประการ คือ
. บรรเทาความหิว
. บรรเทาความกระหาย
. ทำให้ลมเดินคล่อง
. ชำระลำไส้
. ช่วยย่อยอาหาร
 พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ใช้ความร้อนบำบัดโรคลมตามอวัยวะ ดังนี้
. ทรงอนุญาตการเข้ากระโจมรมเหงื่อ
. ภิกษุอาพาธด้วยโรคลมไม่หาย ทรงอนุญาตการรมด้วยใบไม้
. ภิกษุอาพาธด้วยโรคลมไม่หายอีก ทรงอนุญาตการรมใหญ่
การรมใหญ่ หมายถึง เอาถ่านใส่หลุมจนเต็ม เอาดินร่วนและทรายเป็นต้นปิดไว้ ลาดใบไม้นานาชนิดทับลงไป เอาน้ำมันทาตัว นอนบนหลุมนั้น รมร่างกายโดยพลิกกลับไปมา 
. ภิกษุอาพาธด้วยโรคลมไม่หายอีก ทรงอนุญาตน้ำต้มใบไม้ชนิดต่างๆ ใส่อ่างสำหรับอาบหรือแช่ได้
. ภิกษุอาพาธเป็นแผลชื้น ทรงอนุญาตให้รมควัน 
. ภิกษุที่อ้วนอาพาธมาก ทรงอนุญาตเรือนไฟสำหรับอบตัว 
พระพุทธองค์ทรงพักผ่อนเมื่อทรงปวดหลัง
สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์แสดงธรรมเกือบตลอดทั้งคืน พระองค์ทรงมีอาการปวดหลัง ทรงใช้การบำบัดด้วยวิธีการพักผ่อน ตรัสว่า สารีบุตร เธอจงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย เราเมื่อยหลัง จักขอพักผ่อนสักหน่อย
            พระพุทธองค์ทรงอนุญาตการผ่าตัดฝี
การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาโรคที่ก้าวหน้าที่สุดในสมัยพุทธกาล เช่น การผ่าตัดสมอง และการผ่าตัดลำไส้ ปรากฏอยู่ในหมู่คฤหัสถ์ ทรงอนุญาตให้ภิกษุผ่าตัดได้ในบางกรณี การผ่าตัดในหมู่สงฆ์ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎก มีดังนี้
การผ่าตัดฝี ภิกษุที่อาพาธด้วยโรคฝี ทรงอนุญาตให้ทำการผ่าตัดฝี บอกไว้เพียงคร่าวๆ ดังนี้
            ๑.  ผ่าตัด
. น้ำฝาด
. งาบด
. ยาพอก
. ผ้าพันแผล
. ให้ชะด้วยน้ำแป้งเมล็ดผักกาด สำหรับแผลคัน
. ให้รม สำหรับแผลชื้น
พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ผ่าตัดเนื้องอก
ภิกษุที่อาพาธเป็นเนื้องอกที่ยื่นออกมา ทรงอนุญาตให้ทำการผ่าตัดด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
. การผ่าตัดเนื้องอก ทรงอนุญาตให้ตัดด้วยเกลือ
. น้ำมันทาแผล
. ผ้าเก่าซับน้ำมันที่ไหลเยิ้ม
พระพุทธองค์ทรงห้ามการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
ได้เคยมีภิกษุสงฆ์ให้หมอผ่าตัดริดสีดวงทวารมาแล้ว พระพุทธองค์ทรงทราบจึงมีบัญญัติห้ามภิกษุสงฆ์ทำการผ่าตัดริดสีดวงทวาร หรือบีบริดสีดวงที่มีขนาดประมาณ ๒ นิ้ว รอบๆ ที่แคบ ภิกษุรูปใดผ่าตัดหรือบีบริดสีดวง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
พระพุทธองค์ทรงใช้พุทธานุภาพบำบัดโรค
การใช้พุทธานุภาพ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงนำมาทำการรักษาโรค มีกล่าวในคัมภีร์พระไตรปิฎกโดยย่อว่า
สมัยหนึ่ง มีอุบาสิกาชื่อสุปปิยา มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา นางจึงได้ตัดชิ้นเนื้อขาตนเองไปปรุงอาหารแทนเนื้อสัตว์ ถวายแด่ภิกษุอาพาธ หลังจากนั้นนางป่วยพระพุทธองค์ทรงทราบการไม่สบายของนาง ทรงแสดงพุทธานุภาพรักษาแผลของนางให้หายเป็นปกติ นางได้กล่าวสรรเสริญพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าไว้ว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ ท่านผู้เจริญ ไม่เคยปรากฏ ท่านผู้เจริญ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพียงได้เห็นพระองค์เท่านั้น แผลใหญ่กลับหายเป็นปกติ มีผิวพรรณเรียบสนิท
พระพุทธองค์ทรงอนุญาตผู้รักษาพยาบาล
พระพุทธองค์ทรงเห็นความสำคัญของผู้รักษาพยาบาล เพราะการได้ผู้พยาบาลที่ดีและมีความชำนาญทำให้โรคหายได้เร็วขึ้น ดังที่พบว่าทรงอนุญาตให้หมอชีวกเป็นหมอประจำพระองค์และรักษาพระสาวกในสำนักของพระองค์ด้วย พระองค์ทรงบัญญัติคุณสมบัติของภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์ ผู้ให้นิสสัย  และผู้มีสามเณรเป็นอุปัฏฐากจะต้องเป็นผู้ทำการพยาบาลไข้ได้ หรือสามารถหาผู้พยาบาลแทน ได้ทรงบัญญัติให้ภิกษุต้องพยาบาลไข้ซึ่งกัน และกัน หากภิกษุรูปใด ไม่พยาบาลต้องอาบัติทุกกฎ
พระพุทธองค์ทรงเสด็จเยี่ยม และพยาบาลภิกษุไข้
ภารกิจอันสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงถือปฏิบัติอยู่เนืองๆ คือ การเสด็จไปเยี่ยมภิกษุอาพาธตามศาลาโรงไข้ (คิลานศาลา) หรือตามที่พักอาศัย เช่น
สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงเข้าไปหาท่านพระมหากัสสปะถึงที่พัก ได้ตรัสถามพระมหากัสสปะว่า  กัสสปะ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการทุเลาปรากฏ อาการไม่กำเริบไม่ปรากฏหรือ ?
พระองค์ทรงพยาบาลภิกษุไข้ด้วยพระองค์เอง
ครั้งหนึ่งพระองค์เสด็จเยี่ยมภิกษุ ที่โรงไข้ (คิลานศาลา) ทรงพบภิกษุรูปหนึ่งอาพาธถูกทอดทิ้งนอนจมอุจจาระไม่มีใครพยาบาล พระองค์รักษาพยาบาล ตรัสว่า
อานนท์เธอไปตักน้ำมา เราจะอาบน้ำให้ภิกษุนี้ พระอานนท์ได้ตักน้ำมาถวาย พระพุทธองค์ทรงราดน้ำ ท่านพระอานนท์ขัดสี พระพุทธองค์ทรงประคองศีรษะขึ้น พระอานนท์ยกเท้าวางบนเตียง
จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญต่อความสะอาดทางร่างกายผู้ป่วย สิ่งแวดล้อมที่เป็นระเบียบเรียบร้อยปลอดโปร่งโล่งสบาย เป็นปัจจัยหนึ่งส่งเสริมให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น
พระพุทธองค์ทรงบัญญัติคุณธรรมของผู้พยาบาลและคนไข้
พระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวก เอาใจใส่ดูแลพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้เจ็บป่วยเป็นอย่างดี พระพุทธองค์ทรงบัญญัติคุณสมบัติของผู้รักษาพยาบาลที่ดี และผู้ไม่ควรจะพยาบาลไข้ คุณสมบัติของผู้ป่วยที่พยาบาลได้ง่าย และผู้ป่วยที่พยาบาลได้ยาก ดังปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ดังนี้
คุณธรรมของผู้พยาบาลไข้
พระพุทธองค์ทรงบัญญัติคุณธรรมหรือข้อปฏิบัติของผู้รักษาพยาบาลที่ดีไว้ถึง ๕ ประการ คือ
. สามารถจัดยาให้ผู้ป่วยได้
. รู้จักของแสลงและไม่แสลง คือนำของแสลงออกไป นำของไม่แสลงเข้ามาให้
. มีจิตเมตตา ไม่พยาบาลไข้เพราะเห็นแก่อามิส
. ไม่รังเกียจที่จะนำอุจจาระปัสสาวะน้ำลาย หรือของที่อาเจียนออกมาไปเททิ้ง
. สามารถพูดให้คนไข้เห็นชัด ชวนให้อยากไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้าปลอบชโลมใจให้สดชื่นด้วยธรรมะ
พระองค์ได้ตรัสถึงคุณสมบัติของผู้ไม่ควรจะทำการพยาบาลไข้ไว้ ๕ ประการ มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับที่ทรงบัญญัติไว้ข้างต้น
คุณธรรมของคนไข้
พระพุทธองค์ทรงบัญญัติคุณธรรมหรือข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่พยาบาลได้ง่ายมี ๕ ประการ คือ
. ทำความสบาย
. รู้ประมาณในความสบาย
. ฉันยา
. บอกอาการไข้ตามความเป็นจริงแก่พยาบาลไข้ที่มุ่งประโยชน์ คือ บอกอาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้ที่ทรงอยู่ว่าทรงอยู่
. เป็นคนอดทนความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น เป็นทุกข์แสนสาหัส กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต
พระองค์ตรัสถึงคุณสมบัติของคนไข้ที่พยาบาลได้ยากไว้อีก ๕ ประการ มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับที่ทรงบัญญัติไว้ข้างต้น 
การรักษาโรคความทุกข์ทางใจ
พุทธวิธีบำบัดรักษาโรคด้วยพระธรรมโอสถ
พระพุทธองค์ทรงนำพระธรรมโอสถ มาบำบัดรักษาโรคให้กับภิกษุสงฆ์และคฤหัสถ์ ดังนี้
พระพุทธองค์ทรงประชวรหนัก ณ พระเวฬุวันวิหาร ได้รับทุกขเวทนาแรงกล้า ทรงให้พระมหาจุนทะ แสดงธรรมโพชฌงค์ ๗ ให้ฟัง พระองค์พิจารณาตามธรรมนั้นไปด้วย ครั้นพระมหาจุนทะแสดงธรรมจบลง ก็ทรงหายจากพระประชวร พระองค์ตรัสว่า จุนทะโพชฌงค์ดีนัก
พระมหากัสสปะอาพาธหนัก ณ ปิปผลิคูหา พระพุทธองค์เสด็จไปเยี่ยมถึงที่พัก ทรงแสดงธรรมโพชฌงค์ ๗ ให้ฟัง พระมหากัสสปะน้อมจิตพิจารณาตามไปด้วย ครั้นพระองค์ทรงแสดงธรรมจบลง พระมหากัสสปะก็หายจากอาพาธ
 พระมหาโมคคัลลานะอาพาธหนัก ณ ภูเขาคิชฌกูฏ พระพุทธองค์เสด็จไปเยี่ยมถึงที่พัก พระองค์ทรงแสดธรรมโพชฌงค์ ๗ ให้ฟัง พระมหาโมคคัลลานะน้อมจิตพิจารณาตามไปด้วย ครั้นทรงแสดงธรรมจบลง พระโมคคัลลานะก็หายจากอาพาธ
พระพุทธเจ้าและพระสาวกบางรูป ฟังธรรมโพชฌงค์ ๗ แล้ว สามารถรักษาโรคได้ทันทีนั้น ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น เป็นบุคคลผู้ผ่านการฝึกอบรมศีล สมาธิ และปัญญาครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการแล้ว
พระคิริมานนท์อาพาธหนัก พระพุทธองค์ทรงมอบให้พระอานนท์ไปเยี่ยมแทน พร้อมกับให้พระอานนท์แสดงธรรม สัญญา ๑๐ ให้ฟัง พระคิริมานนท์ฟังธรรมนี้แล้ว ก็สงบจากอาพาธหนักทันที่
พระอนุรุทธะ อาพาธหนัก ณ ป่าอันธวัน เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นภิกษุจำนวนหนึ่งไปเยี่ยมถึงที่พัก เห็นพระอนุรุทธะได้รับทุกขเวทนาอย่างรุนแรงแต่ไม่ได้แสดงอาการทุรนทุราย จึงถามถึงหลักธรรมที่ใช้อยู่ในขณะนั้นพระอนุรุทธะตอบว่าท่านมีจิตตั้งมั่นอยู่ใน สติปัฏฐาน ๔ ทุกขเวทนาทางกายที่เกิดขึ้น จึงไม่สามารถครอบงำจิตท่านได้
พระอัสสชิ อาพาธหนัก พระพุทธองค์เสด็จไปเยี่ยมถึงที่พัก ทรงทราบว่า พระอัสสชิมีความทุรนทุรายเพราะคิดว่าตนนั้นเสื่อมจากสมาธิ พระองค์ตรัสบอกอย่าได้ ยึดถือสมาธินั้นเลย หากมีศีลบริสุทธิ์ดีแล้วไม่ควรที่จะทุรนทุรายอะไรอีก ตรัสสอนให้พิจารณาเรื่องขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทรงสอนให้พิจารณากำหนดรู้ชัดเวทนา ๓ อย่าง คือ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ล้วนแต่ไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน หลังจากตายไป ก็ให้กำหนดรู้ชัดในอาการเช่นนี้
ธนัญชานิพราหมณ์ ป่วยหนัก จึงให้คนไปนิมนต์พระสารีบุตรให้โปรดอนุเคราะห์ด้วย พระสารีบุตรได้ไปเยี่ยมถึงที่บ้าน ทราบว่าธนัญชานิพราหมณ์มีจิตอยากไปสู่พรหมโลก จึงได้แสดงธรรมว่าด้วยพรหมวิหาร ๔ อันเป็นหนทางไปสู่พรหมโลก ระหว่างฟังธรรมจิตของ ธนัญชานิพราหมณ์น้อมพิจารณาตาม มีความประสงค์จะไปเกิดในพรหมโลก หลังจากนั้นไม่นานธนัญชานิพราหมณ์ ก็สิ้นชีวิตลง หลังจากตายแล้วได้ไปสู่พรหมโลกตามที่จิตมุ่งหมายไว้
คหบดีผู้สูงวัย นกุลปิตา ถูกโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอยู่เสมอได้รับทุกขเวทนาอย่างหนัก เกิดความทุกข์ใจ รำคาญใจอย่างยิ่ง ได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลขอพร ถึงวิธีการแก้ไขเยียวยารักษาโรคที่เป็นอยู่ พระพุทธองค์ตรัสบอกนกุลปิตาดังนี้ว่า พึงตั้งใจไว้อยู่เสมอว่า ถึงแม้กายจะกระสับกระส่าย แต่จิตจักไม่กระสับกระส่ายตามไปด้วย ท่านได้ฟังอมตะธรรมนั้นแล้วก็เกิดความยินดี มีอินทรีย์ผ่องใสและสีหน้าบริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นทันที
อนาถปิณฑิกคหบดี แห่งกรุงสาวัตถี ป่วยหนัก พระสารีบุตร และพระอานนท์ไปแสดงธรรมให้พิจารณาเห็นว่า อายตนะภายนอก ๖ อายตนะภายใน ๖ วิญญาณ ๖ สัมผัส ๖ เวทนา ๖ ธาตุ ๖ ขันธ์ ๕ อรูปฌาน ๔ โลกนี้ โลกหน้า และอารมณ์ที่รับรู้ทางอายตนะ ๖ เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อนาถปิณฑิกคหบดี เกิดปีติซาบซึ้งในธรรมถึงกับร้องไห้ เนื่องจากได้ฟังธรรมที่ละเอียดประณีตลึกซึ้ง จากนั้นได้กล่าวขอร้องให้มีการแสดงธรรมชั้นสูงที่ละเอียดลึกซึ้งเช่นนี้แก่คฤหัสถ์อื่นๆ ได้รับฟังต่อไป เพราะบุคคลผู้ฉลาดมีปัญญารู้ธรรม และเข้าใจได้ ยังมีอยู่มาก อนาถปิณฑิกคหบดีสิ้นชีวิตลงอย่างสงบ ได้ไปเกิดในเทวโลกชั้นดุสิต
พระพุทธเจ้าองค์แนะนำวิธีแก้กิเลส ตัณหา ราคะ ดังนี้
. โรคโลภะ ทรงสอนให้เป็นผู้รู้จักเพียงพอ รู้จักถือสันโดษ รู้จักให้ทาน และนึกถึงความตาย ทุกลมหายใจเข้าออก
. โรคโทสะ ทรงสอนให้เป็นผู้มีพรหมวิหาร เช่น เมตตาเป็นมิตรคิดแต่สิ่งดี และรู้จักให้อภัย
. โรคโมหะ ทรงสอนให้เป็นผู้รู้จักฟังธรรม เช่น อริยสัจ ๔ เจริญสติปัฏฐาน สมถและวิปัสสนากรรมฐาน ภาวนาให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ปฏิบัติทางสายกลางคือ มรรค ๘ จะได้ยุติการเวียนว่ายตายเกิด
๔. โรคตัณหา ทรงสอนให้เห็นภัยของตัณหา และให้ดับตัณหาเสียเพื่อยุติการเกิดอีก
๕. โรคราคะ ทรงสอนให้พิจารณาอสุภะกรรมฐาน เพื่อแก้ยึดติดร่างกายสิ่งสวยงาม

อิทธิบาท ๔  ได้แก่ ฉันทะ (ความพอใจในสิ่งนั้น) วิริยะ (ความเพียรประกอบในสิ่งนั้น) จิตตะ (จิตใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นอยู่เสมอ) วิมังสา (หมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งนั้นให้สำเร็จ)งค์ธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า นำมาใช้ปฏิบัติทำให้ประสบความสำเร็จ มีอายุยืนได้ 


คาถาโพชฌงค์ ๗ ใช้รักษาผู้ป่วย (สวดมนต์ให้ผู้ป่วยฟังๆ โดยมีสติพิจารณาตาม)
    โพชฌังโค สะติสังขาโต            ธัมมานัง วิจะโย ตถา
วิริยัมปิติปัสสัทธิ                        โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา              สัตเตเต สัพพะทัสสินา
มุนินา สัมมะทักขาตา                  ภาวิตา พะหุลีกะตา
สังวัตตันติ อะภิญญายะ               นิพพานายะ จะ โพธิยา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                 โสตถิ เต โหตุ สัพพะทาฯ

    โพชฌงค์ ๗ คือองค์แห่งการตรัสรู้ ได้แก่
๑. มีสติ คือความรู้ตัวอยู่ว่ามีความเจ็บป่วยด้วยโรคใด เช่นป่วยทางกาย หรือกิเลสครอบงำ
๒. มีการวิจัยธรรม คือการค้นหาธรรมเพื่อบำบัดโรคนั้น เช่น ป่วยเพราะกิเลสก็ต้องละกิเลสนั้นเสีย
๓. มีวิริยะ คือความเพียรพยายามบำบัดโรคนั้น เช่น พยายามรักษาโรคหรือละกิเลส
๔. มีความปิติ คืออิ่มเอิบเมื่ออาการของโรคลดลง เช่น โรคทางกายหรือกิเลสลดลง
๕. มีปัสสัทธิ คือความสงบเมื่อโรคหายแล้ว เช่น โรคทางกายหรือกิเลสระงับแล้ว

โพชฌงค์ คือองค์แห่งการตรัสรู้อื่นๆอีก ได้แก่
๖. มีสมาธิคือความตั้งใจมั่นคง ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญเบื่อหน่ายเมื่อเจ็บป่วยทั้งกายใจ
๗. มีอุเบกขาคือความวางเฉย เมื่อโรครักษาไม่หายก็ต้องปล่อยวางสังขารตามธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ และตายเป็นเรื่องธรรมดา ละสังขารทั้งหลายเสียได้ ย่อมมีความสุข

โพชฌงค์ ๗ คือองค์แห่งการตรัสรู้เหล่านี้
พระมุนีผู้เห็นธรรมทั้งสิ้นตรัสไว้ชอบแล้ว เมื่อผู้ใดเจริญให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความดับกิเลสสิ้นทุกข์ เพื่อนิพพาน เพื่อความตรัสรู้

ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ


ประวัติ การศึกษาและ 
การประสบการณ์รักษาโรคของหมอชีวกโกมารภัจจ์
หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นบุตรบุญธรรมของอภัยราชกุมาร และเป็นนัดดาบุญธรรมของพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแคว้นมคธ  พออายุได้ ๑๖ ปี ได้เดินทางไปเมืองตักกสิลากับเหล่าพ่อค้าชาวตักกสิลา เพื่อศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์กับนายแพทย์สำนักทิศาปาโมกข์ ณ เมืองตักกสิลา ชีวกโกมารภัจจ์ ได้มอบตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ แต่ไม่มีทรัพย์ให้แก่อาจารย์ ต้องช่วยทำงานให้กับอาจารย์เพื่อเรียนความรู้
หมอชีวกโกมารภัจจ์ ตั้งใจเรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ตามธรรมดา ต้องใช้เวลาเรียน ๑๖ ปี แต่หมอชีวกะใช้เวลาเรียน ๗ ปี ท่านอาจารย์ได้ทดสอบความรู้ให้หมอชีวกะถือเสียมไปขุดหาสิ่งที่ไม่ใช้ตัวยารอบเมืองตักสิลา ในรัศมี ๑ โยชน์
หมอชีวกะเรียนท่านอาจารย์ว่า กระผมเดินไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์แล้ว
ไม่ได้เห็นสิ่งที่ไม่เป็นยาสักอย่างหนึ่ง
อาจารย์บอกว่า หมอชีวกะ สำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถจะครองชีพได้แล้ว
และได้ให้เสบียงเดินทางเล็กน้อยแก่หมอชีวกโกมารภัจจ์ เพื่อจะได้ใช้วิชาแพทย์รักษาโรคให้คนไข้และได้ค่าตอบแทนเพื่อดำรงชีพต่อไปในระหว่างเดินทางกลับแคว้นมคธ


๑. หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้กำจัดโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี เมืองสาเกต ซึ่งเป็นมา ๗ ปีให้หาย โดยวิธีหุงเนยกับยาสมุนไพร ให้คนไข้นอนหงายนัตถุ์ยาจนยาพุ่งออกจากปากคราวเดียวเท่านั้นโรคปวดศีรษะก็หาย

๒. หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้รับคำสั่งจากเจ้าชายอภัยให้รักษาโรคริดสีดวงงอกที่ทำให้พระภูษาพระเจ้าพิมพิสาร เปื้อนพระโลหิต ได้ใช้เล็บตักยา เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารขออนุญาตตรวจพระอาการ แล้วทายาเพียงครั้งเดียว พระโรคก็หายสนิทเป็นปกติ
ครั้นพระเจ้าพิมพิสาร ทรงหายประชวรจึงให้รางวัลมากมาย แต่หมอชีวกโกมารภัจจ์ไม่รับ เพราะเป็นหน้าที่ๆต้องรักษาโรค พระเจ้าพิมพิสารจึงให้เป็นแพทย์ประจำราชสำนัก และประจำพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์

๓. หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้รับคำสั่งจากพระเจ้าพิมพิสารให้ไปรักษาเศรษฐีคหบดีตามที่ประชาชนขอ หมอชีวกไปหาเศรษฐีสังเกตอาการที่ผิดแปลกของเศรษฐีคหบดีแล้ว
ให้เศรษฐีคหบดีนอนบนเตียง มัดไว้กับเตียงถลกหนังศีรษะเปิดรอยประสานกระโหลกศีรษะ นำสัตว์มีชีวิตออกมาสองตัว แล้วแสดงแก่ประชาชนว่า ท่านทั้งหลายจงดูสัตว์มีชีวิต ๒ ตัวนี้ เล็กตัวหนึ่ง ใหญ่ตัวหนึ่ง พวกอาจารย์ที่ทำนายว่า เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ เพราะสัตว์ตัวใหญ่นี้ มันจะเจาะกินมันสมอง ของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๕ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินสมองหมดก็จะถึงอนิจกรรม ส่วนพวกอาจารย์ที่ทำนายไว้ว่าเศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ เพราะสัตว์ตัวเล็กนี้ มันจะเจาะกินมันสมอง ของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๗ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินมันสมองหมด ก็จักถึงอนิจกรรม  แล้วปิดแนวประสานกะโหลกศีรษะเย็บหนังศีรษะแล้วได้ทายาสมานแผล จนหาย

๔. หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้รับคำสั่งจากพระเจ้าพิมพิสารให้ไปรักษาบุตรเศรษฐีนครพาราณสีได้เล่นกีฬาหกคะเมน ป่วยโรคเนื้องอกที่ลำไส้  ข้าวยาคูที่ดื่ม ข้าวสวยที่เธอรับประทานไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เพราะโรคนั้น เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลือง และเต็มไปด้วยเอ็น
หมอชีวกะเดินทางไปตรวจอาการป่วยแล้วทำการผ่าตัด โดยการมัดลูกเศรษฐีไว้กับเสา ผ่าหนังท้องนำเนื้องอกในลำไส้ออกมาให้ภรรยาของเขาดู แล้วสอดลำไส้กลับดังเดิม เย็บหน้าท้องแล้วทายาสมานแผล ไม่นานนักเขาก็หายจากโรค

๕. หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้รับคำสั่งจากพระเจ้าพิมพิสารให้ไปรักษาพระเจ้าจัณฑปัชโชตราชาในกรุงอุชเชนีทรงประชวรโรคผอมเหลือง นายแพทย์ที่ใหญ่ ๆ มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคนมารักษา ก็ไม่อาจทำให้โรคหาย
หมอชีวกะเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ตรวจอาการที่ผิดแปลกของพระเจ้าจัณฑปัชโชต แล้วได้กราบทูลว่า จะหุงเนยใสให้เสวย พระเจ้าจัณฑปัชโชตห้ามว่า อย่าปรุงยาด้วยเนยใส ให้ใช้วิธีอื่นเถิด เนยใสเป็นของน่าสะอิดสะเอียน
หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกว่า ถ้าเว้นเนยใสไม่อาจรักษาพระองค์ให้หายโรคได้ ควรหุงเนยใสด้วยเภสัชนานาชนิดให้มีสี กลิ่น รส เหมือนน้ำฝาด แต่ถ้าใส่เนยใสให้พระองค์เสวย เมื่อย่อยจะเรอ ทำให้พระองค์ทรงเกรี้ยวกราด จะสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้
จึงทูลขอช้างที่วิ่งเร็วไปเก็บสมุนไพรนอกเมืองเพื่อเตรียมหนี หลังจากปรุงยาเสร็จแล้วก่อนพระเจ้าจัณฑปัชโชตเสวย หมอชีวกะได้หนีไปด้วยช้างถึงใกล้เขตแดนเมืองโกสัมพี
จริงดังคาดไว้หลังจากพระเจ้าจัณฑปัชโชตเสวยยาผสมน้ำมันเนยย่อยแล้วเรอออกมาเหม็นทำให้โกรธหมอชีวกะมาก จึงสั่งให้ราชบุรุษที่วิ่งเร็วไปตามหมอชีวกะกลับอุชเชนี ราชบุรุษได้พบหมอชีวกะกำลังพักรับประทานอาหารและมะขามป้อม หมอชีวกะได้แบ่งมะขามป้อมทีจิกด้วยเล็บใส่ยาถ่ายให้ราชบุรุษรับประทานแก้หิวน้ำเนื่องจากวิ่งตากแดดมานาน หลังจากราชบุรุษรับประทานได้ครึ่งผลแล้วดื่มน้ำตาม ได้ถ่ายมาก และกลัวตาย หมอชีวกะบอกว่าไม่ตาย เป็นยาถ่ายไม่ใช่ยาพิษ ได้ถ่ายสิ่งที่หมกหมมในท้องมานาน ท่านอย่าได้ตกใจ ต่อไปท่านจะมีสุขภาพดีมาก สามารถเดินทางได้ไกลกว่าเดิม แล้วได้คืนช้างให้ราชบุรุษขี่กลับอุชเชนี
หมอชีวกะได้เดินทางกลับถึงเมืองราชคฤห์ แล้วเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารฯ ได้กราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้นที่อุชเชนี และระหว่างเดินทาง
พระเจ้าพิมพิสารฯ ตรัสว่า เจ้าไม่กลับไปอุชเชนีนั้นถือได้ทำถูกแล้ว พระราชาองค์นั้นเหี้ยมโหด อาจสั่งให้สำเร็จโทษเจ้าเสียก็ได้

๖. หมอชีวกโกมารภัจจ์ถวายก้านดอกบัวอบ ๓ ก้านให้พระพุทธองค์ทรงสูดดมถ่ายสิ่งหมักหมมในร่างกาย ๓๐ครั้ง
สมัยหนึ่ง พระกายของพระพุทธองค์หมักหมมด้วยสิ่งที่เป็นโทษ ตรัสกับอานนท์ว่า ต้องการจะฉันยาถ่าย พระอานนท์ไปหาหมอชีวกโกมารภัจจ์ บอกว่าท่านชีวกะ พระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งที่เป็นโทษ พระองค์ต้องการจะเสวยพระโอสถถ่าย
หมอชีวกโกมารภัจจ์ว่าพระคุณเจ้าโปรดทำพระกายของพระพุทธองค์ให้ชุ่มชื่นสัก ๒-๓ วัน
หลังจากนั้น ๒-๓ วันพระอานนท์บอกว่าพระกายของพระตถาคตชุ่มชื่นแล้ว
หมอชีวกโกมารภัจจ์ปริวิตกว่าเราจะถวายพระโอสถถ่ายที่หยาบแด่พระพุทธองค์ย่อมไม่สมควร เราพึงอบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วทูลถวายพระพุทธองค์
หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๑ แด่พระพุทธองค์ให้ทรงสูดดมก้านอุบลก้านที่ ๑ จะทำให้พระพุทธองค์ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง
แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระพุทธองค์ให้ทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๒ จะทำให้พระพุทธองค์ถ่ายอีก ๑๐ ครั้ง  แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๓ แด่พระพุทธองค์ให้ทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๓ จะทำให้พระพุทธองค์ถ่ายอีก ๑๐ ครั้ง
ครั้นหมอชีวกโกมารภัจจ์ ทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระพุทธองค์เพื่อถ่ายให้ครบ ๓๐ ครั้ง
พระกายของพระพุทธองค์หมักหมมด้วยสิ่งที่เป็นโทษ จะไม่ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จะถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง เมื่อพระพุทธองค์ทรงถ่ายแล้ว หลังจากสรงพระกายแล้ว จะถ่ายอีกครั้งหนึ่ง
ทำให้พระพุทธองค์ทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง  พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ให้จัดเตรียมน้ำร้อนไว้ ทำน้ำอุ่นสรงพระกาย จะได้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง
หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลแนะนำแด่พระพุทธองค์ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ควรเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผักต่างๆ จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ
๗. หมอชีวกะรักษาบาดแผลที่พระบาทของพระพุทธองค์ถูกสะเก็ดหินกระทบห้อพระโลหิต
ในสมัยหนึ่ง พระเทวทัต กับ พระเจ้าอชาตศัตรู ขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏ จะปลงพระชนม์พระพุทธองค์ ได้กลิ้งก้อนหินลงมาจากบนภูเขา แต่ก้อนหินกระแทกปุ่มหิน ก้อนหินนั้นแตก สะเก็ด กระเด็นไปกระทบพระบาทของพระพุทธองค์ห้อพระโลหิต
พวกภิกษุได้นำพระผู้มีพระภาคเจ้าไปพบหมอชีวกะที่สวนมะม่วง หมอชีวกะได้ถวายเภสัชขนานที่ชะงัด เพื่อกระชับแผล จึงพันแผลไว้ก่อน ได้ทูลพระศาสดาว่า ข้าพระองค์ประกอบเภสัชให้แก่คนไข้ผู้หนึ่งภายในพระนคร เสร็จแล้วข้าพระองค์จะรีบมาเฝ้า
หมอชีวกะกลับเข้าเมืองไม่ทันเวลา ประตูเมืองปิดแล้ว จึงมีความวิตกว่า
เวลานี้เป็นเวลาแก้ผ้าพันแผลให้พระพุทธองค์ เมื่อยังไม่ได้แก้ผ้าพันแผลออก ความเร่าร้อนในพระสรีระของพระผู้มีพระพุทธองค์จะเกิดตลอดคืนยังรุ่ง
ขณะที่หมอชีวกะกำลังวิตกอยู่นั้น พระพุทธองค์ทรงทราบความคิดของเขา จึงตรัสเรียกพระอานนท์มาแก้ผ้าพันแผลออก ตื่นเช้าขึ้น หมอชีวกะได้รีบเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ทูลถามว่า  เมื่อคืนนี้พระองค์ทรงมีพระอาการร้อนในหรือเปล่า ?  
พระพุทธองค์ตรัสว่า ตถาคตดับความร้อนทุกชนิดได้สนิทแล้ว ตั้งแต่วันตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ณ โคนต้นโพธิ์ ผู้ที่เดินมาจนสุดทางแห่งสังสารวัฏฏ์ หมดความโศก หลุดพ้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ แล้วไม่มีความร้อนหรอก ท่านชีวกะไม่ว่าร้อนนอกหรือร้อนใน
พระพุทธองค์ทรงยื่นพระบาทที่บาดเจ็บให้หมอชีวกดูแล้วตรัสว่า พระองค์ได้ให้พระอานนท์แก้ผ้าพันแผลให้ตั้งแต่เย็นวานนี้ หมอชีวกตรวจดูพระบาท เห็นแผลหายสนิทดีแล้ว รู้สึกปลาบปลื้มที่ได้ถวายการรักษาพระพุทธองค์จนหายประชวร
หมอชีวกโกมารภัจจ์ ทูลขออนุญาตเรือนไฟและที่เดินจงกรมเป็นครั้งแรก
หมอชีวกโกมารภัจ แพทย์หลวงแคว้นมคธ และแพทย์ประจำพระพุทธองค์ ได้ทูลขอให้ทรงอนุญาตสร้างเรือนไฟและทางเดินจงกรม เพื่อให้ภิกษุอ้วนเพราะฉันอาหารประณีตทำให้ เกิดโรคต่างๆ ได้ออกกำลังกายชะลอการเกิดโรคและใช้เรือนไฟ ในการลดความอ้วน พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสม ทรงอนุญาตตามที่หมอชีวก ทูลขอไว้ทุกประการ และพระพุทธองค์ตรัสถึงอานิสงส์ของการเดินจงกรมไว้ถึง ๕ ประการ คือ
ประโยชน์การเดินจงกรม ๕ ประการ
. เป็นผู้มีความอดทนต่อการเดินทางไกล
. เป็นผู้มีความอดทนต่อการบำเพ็ญ
. เป็นผู้มีอาพาธน้อย
. อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อยง่าย
. สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมตั้งอยู่ได้นาน
หมอชีวกโกมารภัจจ์ บรรลุโสดาบัน
หมอชีวกะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เห็นว่า พระเวฬุวันไกลเกินไปจึงสร้างวัดถวายในอัมพวันคือสวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวะกัมพวัน (สวนมะม่วงของหมอชีวกะ)
ด้วยเหตุที่หมอชีวกะเป็นแพทย์ประจำพระพุทธองค์กับพระสงฆ์ และเป็นผู้มีศรัทธา เอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก
หมอชีวกโกมารภัจจ์ ทูลขออนุญาตให้ทรงบัญญัติข้อห้ามไม่ให้ผู้ใดรับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรค ๕ ชนิด
ครั้นหนึ่ง มีโรคระบาดในมคธชนบท ๕ ชนิด คือ โรคเรื้อน  โรคฝี  โรคกลาก  โรคมองคร่อ (หวัดในปอด)  โรคลมบ้าหมู  จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก เมื่อหายแล้วก็ลาสิกขาไป ไม่ได้บวชด้วยความศรัทธา ดังนั้นหมอชีวกะจึงทูลพระพุทธองค์ ให้ทรงบัญญัติข้อห้ามไม่ให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรค ๕ ชนิด ผู้ใดบวชให้เป็นอาบัติทุกกฎ


พระไภสัชยคุรุไวฑูรย์ประภาตถาคต
พระไภสัชยคุรุไวฑูรย์ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าครูหมอยาองค์หนึ่งของชาวพุทธจีน-ธิเบต
ในประวัติการแพทย์แผนไทย บันทึกว่าเมื่อปี พ.ศ. ๑๗๒๕-๑๗๒๙ ได้ค้นพบศิลาจารึก สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล สร้างอโรคยาศาล ร้อยกว่าแห่งเป็นสถานพยาบาล และมีผู้ทำหน้าที่รักษาพยาบาล เมื่อมีโรคระบาด และมีพิธีบวงสรวงพระไภสัชยคุรุไวฑูรย์ ด้วยยา และอาหารก่อนแจกจ่ายให้ผู้ป่วย

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างพระกริ่ง พ.ศ. ๒๓๘๒ ชาวไทยส่วนมากรู้จักในนามพระกริ่งปวเรศ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้สร้างพระกริ่งปวเรศปางหมอยา ๕ ครั้ง (พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๓๕) มีลักษณะเหมือนพระไภสัชยคุรุไวฑูรย์ การสร้างมีพิธีพระพุทธาภิเษก และมีพิธีโหร พิธีพราหมณ์ และพิธีบวงสรวงอัญเชิญเทพเทวาพระเบื้องบนมาช่วยร่วมพิธีกรรมต่างๆ เพื่อไว้บูชาป้องกันภัยและทำน้ำพระพุทธมนต์ไว้รดอาบขจัดโรคภัยต่างๆ และดื่มรักษาโรคหายได้ด้วยพระพุทธานุภาพ


ประวัติวัดโพธิ์กับการแพทย์แผนไทย
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ท่าเตียน กรุงเทพฯ
เดิมชื่อ วัดโพธาราม เป็นวัดโบราณที่ราษฎรสร้างขึ้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖ รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา

สมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นเมืองหลวง วัดโพธารามได้เป็นอารามหลวงมีพระราชาคณะปกครองตั้งแต่นั้นมา

สมัยกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๓๓๑-๒๓๓๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม ให้ชื่อว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ภายในพระอารามได้จารึกแผ่นศิลา ศิลปะวิทยาการต่างๆ เช่น โบราณคดี วรรณคดี โคลงฉันท์ กาพย์ กลอน วิชาช่างต่างๆ และวิชาแพทย์แผนโบราณ มีตำรานวดเส้น และภาพประกอบมากมาย ตำรายาเต็มไปหมด ได้ปลูกสมุนไพรไว้มากมาย ตำราเวชกรรมบอกสมุฏฐานโรคต่างๆ วิธีรักษาโรคเด็ก และผู้ใหญ่ มีคำอธิบายวิธีรักษาไว้ครบถ้วน มีการบริหารร่างกายจารึกคำโคลงฤๅษีดัดตนมีรูปปั้นประกอบด้วย เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษา และนำไปบำบัด และป้องกันโรคด้วยตนเองด้วยภูมิปัญญาของคนไทย และเป็นสมบัติของชาติ

ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ให้เป็นมหาวิทยาลัยราษฎรแห่งแรก มีจารึกบนแผ่นศิลา ดังนี้

ด้านพระพุทธศาสนา จำนวน ๓๑๐ แผ่น มี ๑๒ เรื่อง ได้แก่ เรื่องมหาวงษ์ พระสาวกเอตทัคคะ พระสาวิกาเอตทัคคะ อุบาสกเอตทัคคะ อุบาสิกาเอตทัคคะ พาหิรนิทาน ทศชาติชาดก เวสสันดรชาดก อรรถกถาชาดก ญาณ ๑๐ นิรยกถา และเปรตกถา


ด้านเวชศาสตร์แผนโบราณ มีจำนวน ๖๐๘ แผ่น มี ๙ เรื่อง ได้แก่ ตำรายาสมุนไพร แผนเส้นนวด แผนฝี แผนปลิง แม่ซื้อ ลำบองราหู โองการปัดพิษแสลง อาธิไท้โพธิบาทว์ และรูปฤๅษีดัดตนมีจารึกภาพนวด ๖๐ ภาพ บนแผ่นศิลาบนผนังศาลาราย และรูปปั้นหล่อเนื้อดีบุกผสมสังกะสี ๘๐ รูป พร้อมคำกลอนบรรยาย  ซึ่งปัจจุบันเหลือให้เห็นเพียง ๒๔ รูปเท่านั้น

ตำรายา ว่าด้วยตำรายาที่มีสรรพคุณแก้โรคทั้งปวง แต่ก่อนที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวยา ก็มีการอธิบายว่าด้วยลักษณะของโรค เช่น ไข้ (ซึ่งในจารึกว่า ไข้วิปริต) ๑๘ ประการ ลักษณะตานซาง ลักษณะ และการเกิดของซาง ลักษณะ และการเกิดของลม ในร่างกาย ซึ่งโบราณถือว่า เป็นสมุฏฐานสำคัญของการเกิดโรคมี ๑๘ ประการ ริดสีดวง ๑๘ ประการ ลักษณะของกระษัยโรค ๑๘ ประการ ลักษณะของเกลื้อนกลาก และคุดทะราด ยาน้ำมันต่างๆ 


อาธิไท้โพธิบาทว์ เป็นงานนิพนธ์สั้นๆที่ไม่ทราบนามผู้แต่ง ซึ่งเรื่องมีความหมายว่า อุบาทว์ที่เกิดจากเทวดาภายในตนเนื้อเรื่องกล่าวถึงอุบาทว์ที่เกิดขึ้นจากเทวดาโพธิบาทว์ ๘ องค์ ได้แก่ พระอินทร์ พระเพลิง พระยม พระนารายณ์ พระวรุณ พระพาย พระโสม และพระไพสพ และยังกล่าวถึงวิธีการบวงสรวงสังเวย มนตร์สำหรับบูชาแก้อุบาทว์ อาธิไท้โพธิบาทว์เป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของคนไทย ที่มีมาช้านาน โดยเฉพาะสมัยอยุธยาตอนปลาย และได้สืบทอดมายังสมัยรัตนโกสินทร์ การที่ได้จารึกเรื่องนี้ไว้ที่ศาลารายหน้าพระมหาเจดีย์ด้านทิศใต้ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คงมิได้หมายความว่า พระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาในเรื่องนี้ หากแต่เป็น การอนุรักษ์ความเชื่อเก่าซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของบุรพชน

ด้านวรรณคดี และสุภาษิต จำนวน ๓๔๑ แผ่น มี ๑๑ เรื่อง ได้แก่ โคลงกลอน โคลงภาพจำหลักเรื่องรามเกียรติ์ โคลงโลกนิติ เพลงยาว กลอน ตำราฉันท์มาตราพฤติ ตำราฉันท์วรรณพฤติ ฉันท์พาลีสอนน้อง ฉันท์กฤษณาสอนน้อง ฉันท์อัษฎาพานร สุภาษิตพระร่วง และนิทาน ๑๒ เหลี่ยม และด้านอื่นๆ

แผ่นศิลาจารึกวัดโพธิ์เป็นหลักฐานบันทึกรวบรวมองค์ความรู้ของสรรพวิทยาการต่างๆ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี อักษรศาสตร์ ภาษาศาสตร์ เวชศาสตร์ และสุภาษิต จึงมีคำกล่าวว่า วัดพระเชตุพนวิมนมังคลาราม ราขวรวิหาร คือ มหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองไทย และยังได้ประกาศขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก โดยคณะกรรมการของยูเนสโกแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ และขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำของโลกใน ปี พ.ศ.๒๕๕๔ 

คณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การถวายพระราชสมัญญา พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย แด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ พร้อมกำหนดให้วันที่ ๒๙ ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ  จะทำให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยได้รับการอนุรักษ์ คุ้มครองและตระหนักถึงคุณค่าที่บรรพบุรุษรุ่นก่อนได้สั่งสมจนเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการยอมรับ อีกทั้งยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และกระตุ้นการปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้รู้จักและตระหนักในคุณค่าของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยอันเป็นภูมิปัญญาประจำชาติที่มีมาช้านาน 

โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กว่า ๑,๐๐๐ ปี เป็นประจักษ์พยานสำคัญ ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยยังคงมีบทบาท ดำรงคุณค่า และความนิยมโดยไม่เสื่อมคลาย และกว่าทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ภายใต้กลไกขับเคลื่อน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ และภารกิจของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกฎหมายภายในประเทศหลายฉบับ อาทิ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช กฎหมายเกี่ยวกับอุทยาน กฎหมายว่าด้วยการสงวนรักษา และคุ้มครองสัตว์ป่า ฯลฯ และยังมีกฎหมายหรือกรอบข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลาย ทางชีวภาพ อนุสัญญาว่าด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ พิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึง และแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม เป็นต้น

๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘  ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการประกาศกำหนดตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติ พ.ศ. ๒๕๕๘ กำหนดให้ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จำนวน ๓๘๐ แผ่น จากทั้งหมด ๑,๔๔๐ แผ่น โดยประกาศเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทยของวัดโพธิ์ เป็นตำรับยาแผนไทยของชาติ






อาคารเรียนการแพทย์แผนไทยวัดโพธิ์

ตัวอย่างแผ่นศิลาจารึกด้านการแพทย์แผนไทย
แผ่นศิลาจารึกด้านการแพทย์แผนไทย
แผ่นศิลาจารึกด้านการแพทย์แผนไทย
แผ่นศิลาจารึกด้านการแพทย์แผนไทย
แผ่นศิลาจารึกด้านการแพทย์แผนไทย
 
แผ่นศิลาจารึกด้านการแพทย์แผนไทย
แผ่นศิลาจารึกด้านการแพทย์แผนไทย
แผ่นศิลาจารึกด้านการแพทย์แผนไทย

ตำรายาด้านการแพทย์แผนไทยฉบับสมบูรณ์
ตัวอย่างยาในตำรายาวัดโพธิ์
๑. ยาแก้ริดสีดวงในลำส้วงอุจจาระ ถ่ายเป็นโลหิตสดๆ
ให้เอาข้าวเย็น สีเสียดเทศ เนระพูสี รากหญ้าปากกระบือ เอาเสมอภาค (น้ำหนักเท่ากัน)
ต้มตามวิธี (คือ ๓ เอา ๑) ให้กิน แก้ริดสีดวงอันบังเกิดในลำส้วงอุจจาระนั้นหายดีนัก
๒. ยาประสะเกลือ แก้สรรพโรคหืดทำให้หอบดังครอกๆ แก้ไอ
เอาน้ำผึ้ง น้ำบวบขม น้ำราดหญ้าคา น้ำกะทือ น้ำสลัดได น้ำบอระเพ็ด น้ำเกลือ เอาเสมอภาค ใส่กระทะลงกวนให้ปั้นเม็ดได้ ให้กินหนัก ๑ สลึง แก้สรรพโรคหืดทำให้หอบดังครอกๆ แก้ไอ โรคอันเกิดในเสมหะสมุฏฐานนั้นหายสิ้นวิเศษนัก
๓. น้ำมันประสานแผล
เอาบอระเพ็ด ขมิ้นอ้อย กระเทียม ตำเอาน้ำสิ่ง ๒ ทะนาน น้ำมันงา ๑ ทะนาน หุงให้คงแต่น้ำมัน แล้วจึงเอาสีเสียดทั้ง ๒ ผลเบญกานี พิมเสน สิ่งละ ๒ สลึง ทำเป็นจุณปรุงลงในน้ำมัน ใส่แผลสดสมานแผลดีนัก
๔. ยารักษาแผลเน่าเปื่อย
เอาน้ำผึ้ง ๑ ทะนาน สุราครึ่งทะนาน ไข่ไก่ ๕ ฟอง เอาแต่ไข่แดง มดยอบ ยาดำ ไพล สิ่งละ ๒ ตำลึง หุงให้เป็นยางมะตูม แล้วจึงเอามาปิดแผลเปื่อยนั้นหายดีนัก
๕. น้ำมันขี้ผึ้งชำระแผลและเรียกเนื้อ
เอาน้ำมันงาทะนาน ๑ เสน ๓ ตำลึง ขี้ผึ้ง ๒ ตำลึง จุณสี สีเสียดเทศ สิ่งละ ๒ บาท หุงขึ้นตามวิธีแล้วจึงเอาปิดสรรพแผลทั้งปวง ทั้งกัดทั้งเรียกเนื้อหายดีนัก  
๖. ยามหาทิพย์รส แก้สรรพไข้ในครรภ์รักษา
เอาแก่นขี้เหล็ก แก่นสะเดา แก่นสน จันทน์ทั้ง ๒ รากหญ้านาง ผลมะขามป้อม ผลกระดอม ผลมะตูมอ่อน บอระเพ็ด แห้วหมู ฝักราชพฤกษ์ เอาเสมอภาค ก้านสะเดา ๓๓ ก้าน ต้ม ๓ เอา ๑ ให้กิน แก้สรรพไข้ในครรภ์รักษา ตั้งแต่เดือน ๑ จนกว่าเดือน ๑๐ เดือน รวม ๑๐ เดือน เป็นกำหนดหาย
๗. ยาต้มชำระตานโจร
เอากะเพราทั้งต้นทั้งราก กระพังโหมทั้งต้นทั้งราก สิ่งละ ๑ ตำลึง ผลขี้กาแดง ๑ ผล ผ่า ๔ เอา ๓ ผลมะกรูด ๓ ผล ผ่า ๔ เอา ๓ บอระเพ็ดเท่าฝ่าเท้าคนไข้ ขมิ้นอ้อย ๗ ชิ้น ส้มป่อย ๗ ฝัก สมอทั้ง ๓ สิ่งละ ๓ ผล ยาดำ ฝักราชพฤกษ์ สิ่งละ ๑ บาท ต้มแทรกดีเกลือให้กินตามธาตุหนักเบา  
๘. ยาแก้ลมทำให้มือเท้าตาย และเป็นเหน็บชา
ท่านให้เอาโกฐสอ โกฐเขมา มหาหิงคุ์ สิ่งละ ๔ ส่วน การบูร กานพลู ดอกจันทน์ พิลังกาสา กัญชา สิ่งละ ๖ ส่วน โกฐหัวบัว สมอเทศ กระลำพัก จันทน์ชะมด พริกหอม ดีปลี สิ่งละ ๘ ส่วน กระวาน สมอไทย ผลจันทน์ สิ่งละ ๑๐ ส่วน กฤษณา ขิงแห้ง ๑๒ ส่วน
พริกไทย ๔๐ ส่วน ทำเป็นจุณบดละลายน้ำผึ้ง ให้กินหนัก ๑ สลึง แก้อุทธังคมาวาตากล้า กระทำให้คลุ้มครั่ง และแก้ลมอ้นทำให้มือเท้าตาย และเป็นเหน็บชา และสรรพลมใหญ่ทั้งปวง อันบังเกิดในกองธาตุนั้นหายวิเศษนัก


เมื่อผู้ป่วยได้นำไปใช้อาการทุเลาหรือหายป่วยแล้ว ให้ถวายกล้วยน้ำว้า ๑ หวี และตักบาตรอย่างน้อย ๓ เช้า รักษาศีล ๕ ทำสมาธิ อุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของตำรายาด้วย จะได้ตัดรากถอนโคน

ตัวอย่างท่าฤๅษีดัดตนแก้อาการต่างๆ

แก้ลมปะกัง 
กาลชฎิลดัดมล้าง   ลมดุ 
ไคลขมับจับหณุ     นวดเน้น
มึนเศียรมืดจักษุ     เสื่อมสร่าง  ไซ้แฮ
ไว้ฉบับบอกเส้น     ประสิทธิบอกแก้ลมปะกัง
                         (เจ้าพระยาพระคลัง)  

 แก้แขนขัด
    ระบือนามโคบุตรก้อง   กูณฑ์สรร  สฤษดเฮย
ถอดหทัยทศกรรฐ์            เก็บไว้
ท่าดัดพับเพียบผัน           พักตร์น่อย  ณ แฮ
แขนใด่ขัดเท้าให้             หัตถ์บ่ไข้นวดแขน
                                   (พระอริยวงศ์มุนี)

 แก้ขัดเอว
   พระวัชมฤคเลี้ยง         บุตรลบ
นั่งหย่องสองมือจบ         เจิดหน้า
แก้เส้นสะดุ้งขบ              เอวยอก  หายนอ
ใครอย่าหมิ่นประมาทถ้า  ท่านเท้าให้ลอง
                                  (พระศรีวิสุทธิวงศ์)

 แก้ลมซ่นเท้า
   นาไลยไกรเกริกฟ้า        ดินขาม
หมู่แพทย์พึงนับนาม         ท่าไหว้
บาทาทึกระทกตาม           ตาตุ่ม  แลพอ
กดเข่าเหนี่ยวแข้งให้         ซ่นเท้ามละลม
                                    (พระศรีวิสุทธิวงศ์)

แก้เข่าขาตาย
   ฤๅษีวชิรรู้สาตร            สฤษดิกาย กบแอ
ชื่นเทพมณโฑชาย           มากชู้
แก้ลมเข่าขาตาย             ตึงเมื่อย  มึนเอย
เท้าหัตถ์ชันเข่าคู้             ท่าแม้นละม้ายสิงห์
                                   (หลวงชาญ ภูเบศร์)


แก้กล่อน
    วาสุเทพทอดอกขว้ำ      ลงกับ อาสน์เอย
นักสิทธิสุพรหมทับ           ไหล่แล้
เหยียบยันจระโพกจับ        ตีนเหนี่ยว  นาพ่อ
วาสุเทพวานแก้                กล่อนร้ายเร็วหาย
                                    (พระยาบำเรอบริรักษ์) 

แก้ลมในอก
พระโสมะยะคะโอ้           อักดก
อาพาธแน่นหน้าอก         อัดอั้น
เหยียดแขนยึดเข่าผงก     แหงนพักตร์  อยู่พ่อ
เอาแอ่นอึดใจกลั้น          ดัดแล้วลมถอย
                                  (พระองค์เจ้านวม)

แก้เสียดอก
    ยืนเหนี่ยวข้อเท้าเชิด      หัตถ์เห็น  ยากแฮ
แก้เสียดทรวงเส้นเอ็น         ขอดได้
นารทเสกไม้เป็น                ปลิงเกาะ  กระบี่พ่อ
ยิ้มเยาะวานรให้                 เหือดร้ายรังแก
                                    (พระศรีวิสุทธิวงศ์)

แก้ปวดท้อง สะบักจม
    ทรงนามยามหณุนี้       เนาพนา  เวศนา
ชูเชิดสองพาหา               หัตถ์ช้อย
นั่งแบะฝ่าบาทา               ซ้อนทับ กันแฮ
แก้ป่วนปวดท้องน้อย        อีกเส้นสะบักจม
                                   (พระองค์เจ้าคเนจร)

แก้กล่อนในทรวง
     พระวัชรอัคนิศนี้       เชิญนรายณ์  มานอ
มล้างเหล่าอสูรหลาย      เลี่ยนล่า
แยกขาแย่ย่อกาย          สองหัตถ์ ท้าวแฮ
แก้กล่อนร้อนอุระกล้า    เกลื่อนสิ้นเสื่อมสูญ
                                (พระรัตนมุณี)

แก้ลมเอว
    พระไชยาทิศเชื้อ             ชฎิลดง
ลมเสียดเส้นเอวองค์            ขดค้อม
นั่งสมาธิถวัดวง                   กรเวียด  เอวแฮ
เหยียดหัตถ์ดัดตนน้อม         เหนี่ยวแก้สกลกาย
                                      (ออกยาโชกิกราชเศรษฐี)

แก้ลมอัมพฤกษ์
    โควินทร์แนะกกให้     รามแผลง  อสูรฤๅ
สาปไก่นนทรีแรง           ฤทธิเฝ้า
อัมพฤกษ์พิบัติแสดง       ดัดดับ  คลายนอ
ตั้งซ่นสองมือเข้า            ประทับข้างขืนองค์
                                  (พระศรีวิสุทธิวงศ์)

แก้ลมจันทฆาต  ลมเข่า ลมขา ลมหน้าอก
        พระนารอทวายุเร้า   ทรวงรัน  ทำนา
ขัดเข่าขาแลจัน               ทฆาตร้าย
ฉวยเท้าท่ายืนหัน             เหินเยี่ยง  เหาะแฮ
มือหนึ่งคั้นเข่าซ้าย           เสื่อมสิ้นสี่ลม
                                   (สมเด็จพระสังฆราช)

แก้ขา
    สุทธาวาศชาติทุกข์แจ้ง            มรณะ เที่ยงแฮ
ผนวชหน่ายไอสูรย์สละ               เสลขได้
อาพาตเพื่อวาตะ                       ตึงเมื่อย  ขาเฮย
ยกเข่าคู้บาทไขว้                       หัตถ์น้าวเหนี่ยวขา
                                            (กรมหมื่นไกรสรวิชิต)

แก้ลมชักปากเบี้ยว ลมลิ้นตาย ลมเท้าเหน็บ ลมมือเหน็บ
      ผิวลมเข่าค่อขั้ง               เหน็บหลัก
กายสั่นฟันชิดชัก                  ปากเบี้ยว
พระกาลสิทธิแถลงลักษณ์       เลศท่า แก้นอ
เหนี่ยวไหล่หน่วงเท้าเอี้ยว       อกโอ้อนิจจัง
                                        (หลวงลิขิตปรีชา)


   แก้ลมมหาบาดทะยัก
      ดาบสบรเมศรแก้             ลมหลัก
เรียกมหาบาดทะยัก               ยิ่งร้าย
นั่งสมาธิหัตถ์สองชัก              ฉุดแค่ง ขาแฮ
อกแอ่นอึดอัดย้าย                 โยกเยื้องอินทรีย์
                                        (พระอริยวงศ์มุนี)

แก้ลมในแขน
     เหยียดหัตถ์ดัดนิ้วนั่ง      ชันเพลา
แก้เ มื่อยขัดแขนเบา           โทษได้
ยาคะรูปนี้เอา                    ยาชื่อ   ใส่เฮย
ผสมสี่นักสิทธิให้                ชื่ออ้างอยุทธยา
                                     (กรมหมื่นนุชิตชิโนรส)


แก้สะบักหน้าจม
    หัตถ์หน่วงนิ้วเท้าพับ         ชงฆ์ชิด  เพลาเฮย
แก้สลักไหล่เพื่อพิศม์             ผ่อนน้อย
วตันตตบะฤทธิ์                    มฤครัก  ท่านแฮ
มีแม่โคห้าร้อย                     หยาดน้ำนมถวาย
                                        (นายปรีดาราช)

 แก้ลมทั่วสรรพางค์ 
    อิสีอุศัพเนตรเจ้า           ตำหรับ
สรรพว่านประกอบกับ        เวทไซ้
ท้าวแขนพับเพียบทับ         หัตถ์แอ่น  องค์เอย
แก้ทั่วสรรพางค์ให้             เสื่อมสิ้นสรรพลม
                                     (พระองค์เจ้าศิริวงศ์)

แก้เส้นทั่วสรรพางค์
เวฏฐทีปกะโพ้น                พงษ์กษัตริย์
ออกผนวชพนัศลัด            หลีกเร้น
กรทอดระทวยดัด             องค์อ่อน  งามเอย
แก้ทั่วสรรพางค์เส้น           ระงับได้โดยเพียร
                                     (นายปรีดาราช)
แก้จุก
    พระภรัตดาบสโพ้น                พากเพียร  นักนอ
ตำหรับปรอทเรียน                     รอบรู้
โรคลมจุกเสียดเบียน                  บำบัด  องค์เอย
นั่งคุกกดเข้าคู้                           หัตถ์ค้ำคางหงาย

                                             (พระมหาช้างเปรียญ)

แก้ลมมือลมเท้า
   สิทธาห้อยเท้านั่ง                    เนินไศล
ชื่อพยาธิประไสย                       เลื่องล้า
ชูหัตถ์หัตถ์หนึ่งไคล                    คลึงศอก  ไซ้นา
ดัดไล้ลมกลัดกล้า                      เมื่อยเท้ามือคลาย
                                             (พระมุนีนายก)

แก้ลมในขา (เดิมอาจมีหัวเป็นกวาง?)
   รูปมนุษย์หน้าประหนึ่งเนื้อ       นามกระไลย  โกฏิแฮ
บุตรอิสีสิงห์ไสย                         สาตรรู้
ระบอบระบิลไตร                        ดายุค  โน้นพ่อ
นั่งหย่องสองหัตถ์คู้                     ศอกแก้ลมขา

                                                (พระศรีวิสุทธิวงศ์)

แก้เข่า แก้ขา
    อิสีสิงห์หน้ามฤค              ฌานมอด  ม้วยแฮ
สลบเมื่อนางฟ้ากอด              ท่านนั้น
ฟื้นองค์ครั่นครางออด           ขาไหล่  ขัดเอย
ยืนย่อบาทบีบคั้น                  เข่าทั้งโคนขา
                                        (พระญาณปริยัติ)
แก้เส้นมหาสนุกระงับ 
    กามินทร์มือยุดเท้า                  เหยียดหยัด
มือหนึ่งท้าวเข่าขัด                      สมาธิ์คู้
เข้าฌานช่วยแรงดัด                    ทุกค่ำ  คืนนา
ระงับราคะอยากจะสู้                             โรคร้ายภายใน
                                                (พระมหามนตรี)




หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า  อ. วัดสิงห์  จ. ชัยนาท
ตำรายาหลวงปู่ศุข เป็นตำรายาสมุนไพรไทยที่รวบรวมความรู้ทางยาสมุนไพรโบราณไว้มากมาย
รักษาได้หลายโรคในสมัยโบราณที่จะรักษาคนเจ็บป่วยในสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ประกอบด้วย

ยารักษาโรคหัวใจ
ส่วนผสมของตัวยา มะพร้าวอ่อน ๑ ผล ต้นคื่นฉ่ายสด ๑ กำมือ
วิธีปรุงยา เอาผลมะพร้าวอ่อนมาตัดเอาหัวออก ระวังเปิดกะลามะพร้าวทำให้น้ำมะพร้าวหก วางเอาไว้ จัดการเอาต้นคื่นฉ่ายสดมาล้างน้ำให้สะอาด ตัดเป็นท่อนๆใส่ลงไปในน้ำมะพร้าวนั้น เอามาเผาไฟจนน้ำมะพร้าวเดือด อย่าให้น้ำมะพร้าวหกออกมา ถ้าไฟแรงลดไฟลงให้เดือดอ่อนๆจนคื่นฉ่ายผสมกับน้ำมะพร้าวมากๆด้วยเวลาประมาณ ๑๐ นาทีเศษ
ขนาดรับประทาน เอาน้ำมะพร้าวนี้ปล่อยไว้ให้อุ่น ดื่มให้หมดวันละ ๑ ผล ทำเช่นนี้เป็นเวลา ๗ วัน ๗ ผล ต่อมารับประทานยานี้วันเว้นวัน ต่อเนื่องกัน ๑-๒ เดือน อาการของโรคหัวใจจะค่อยทะเลาลงเรื่อยๆ

ยาลดไขมันในร่างกาย
ส่วนผสมของตัวยา ต้นแห้วหมูทั้งห้า ๑ กก. ล้างให้สะอาด ดินทรายทั้งหลายเอาออกไปให้หมด เตรียมปรุงยาต่อไป
วิธีปรุงยา เอาต้นแห้วหมูซึ่งล้างสะอาดดีแล้วทั้งต้น ใบ ราก และหัวหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เอาไปตากให้แห้งสนิท โดยตากหลายแดด เอามาคั่วให้เหลืองกรอบ สุกดีแล้วเก็บเอาไว้ในขวดปิดฝาสนิทป้องกันอากาศรั่วไหลเข้าไปเก็บเอาไว้ใช้ได้นานวัน เวลาต้องการใช้ก็เอามาชงกับน้ำเดือดแบบชงชาจีน เอาน้ำชาแห้วหมูมาดื่มจิบได้
ขนาดรับประทาน ดื่มครั้งละ ๑ ถ้วยชา แบบดื่มน้ำชาได้เรื่อยๆ ทั้งวันไม่จำกัด

ยารักษาโรคเบาหวาน
ส่วนผสมของตัวยา ยอดขี้เหล็ก ๑ กก.  สารส้ม ๑๐๐ กรัม น้ำผึ้งแท้
วิธีปรุงยา เอายอดขี้เหล็กมาล้างให้สะอาด ตัดเป็นท่อนสั้นๆ เสียก่อน ใส่ครกโขลกให้ละเอียด หรือจะเอามาบดก็ได้ อย่าลืมเอาสารส้มใส่ลงไปโขลกหรือบดผสมผสานก้นเข้าไปด้วย ละเอียดดีแล้วเอาออกมาจากครก ผสมกับน้ำผึ้งแท้ ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดปลายนิ้วก้อย
ขนาดรับประทาน รับประทานวันละ ๑ เม็ด ทุกๆวันเวลาประมาณ ๑ เดือนเศษ หากอาการโรคมีอยู่มากก็รับประทานวันละ ๒ เม็ด ใช้เวลามากกว่า ๑ เดือน

ยาลดความอ้วน
ส่วนผสมของตัวยา ต้น (เถา) บอระเพ็ด ๑ กก.  น้ำผึ้งแท้
วิธีปรุงยา เอาเถาบอระเพ็ดสดๆ มาตัดเป็นท่อนสั้นๆตากแดดให้แห้งสนิท เอาไปบดให้ละเอียดเอาน้ำผึ้งแท้มาคลุกผสมผสานเข้าด้วยกัน จึงปั้นเป็นเม็ดลูกกลอน ขนาดประมาณเมล็ดในของผลพุทราไทยเก็บเอาไว้ในขวดปิดฝาแน่นสนิท เอาไว้รับประทานได้นานวัน
ขนาดรับประทาน ครั้งละ ๓ เม็ด ก่อนอาหารเช้าทุกวัน ต่อเนื่องจนครบ ๑ เดือนเต็ม

ยารักษาอาการปวดเมื่อย
ส่วนผสมของตัวยา ลูกข่อย ๑ ทะนาน  หางไหลเผือก หนัก ๒๐ บาท  กรุงเขมา หนัก ๒๐ บาท
วิธีปรุงยา เอาตัวยาสมุนไพรทั้งหมดตากแดดให้แห้งสนิท เอามาชั่งและตวง จากนั้นบดเป็นผงละเอียดแบบยาผงทั้งหลาย เอามาปั้นเป็นเม็ดขนาดเมล็ดพุทราไทยเก็บเอาไว้รับประทานเป็นยาได้
ขนาดรับประทาน ครั้งละ ๒-๓ เม็ด ก่อนนอนทุกคืน

ยารักษาโรคหวัด
ส่วนผสมของตัวยา ยาฉุน ๑ กำมือ  ดอกมะลิแห้ง ๑ กำมือ ผิวมะกรูดหั่นตากแห้ง ๑ กำมือ
วิธีปรุงยา ต้องตากตัวยาสมุนไพรนี้ให้แห้งสนิท แล้วเอามาบดให้ละเอียดต่อมาก็เอามาผสมกับพิมเสน การบูร อย่างละเล็กละน้อยจากนั้นเอายานี้ไปใช้ประโยชน์ได้ทันที
วิธีการใช้ เอายานี้ทำเป็นยานัตถุ์ โดยเอามาสูดดมก็ได้ นัดแบบยานัดถุ์ก็ได้ หากนัตถ์ุไม่ได้ก็เอามาสูดดมบ่อยๆ

ยาแก้โรคปวดศีรษะ
ส่วนผสมของตัวยา ผลมะนาว ๑ ผล ปูนแดง
วิธีปรุงยา เอาผลมะนาวมาล้วงให้สะอาด เอามีดมาฝานเป็นชิ้นบางๆหนา 3 มม.เอาปูนแดงมาทาลงไปบนมะนาวที่ฝานด้านหนึ่งบางๆ
วิธีการใช้ยา เอามาปิดไปที่ขมับด้านที่ปวด โดยเอามาทางด้านที่ทาปูนแดงปิดลงไป

ยาแก้โรคผมร่วง
ส่วนผสมของตัวยา เถาบอระเพ็ด หนัก ๑ บาท  เถาหัวด้วน หนัก ๑ บาท
วิธีปรุงยา เอาตัวยาสมุนไพรทั้งสองชนิดมาล้างให้สะอาด โขลกให้แหลกละเอียดรวมกัน คั้นเอาแต่น้ำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที
วิธีการใช้ยา เอาน้ำคั้นที่ได้มาทาที่ศีรษะให้ทั่วถึงกันหมด หมักเอาไว้นานๆ สัก ๑ ชั่วโมง วันละ ๑ ครั้ง ปฏิบัติเช่นนี้ไปสัก ๑ สัปดาห์

ยารักษาโรคมะเร็ง
ส่วนผสมของตัวยา ข้าวเย็นเหนือ หนัก ๔ บาท  ข้าวเย็นใต้ หนัก ๔ บาท  กำมะถันเหลือง หนัก ๔ บาท  กะลามะพร้าวแก่จัดผ่า ๔ ส่วน เอา ๓ ส่วน
วิธีปรุงยา เอาตัวยาสมุนไพรทุกอย่างล้างให้สะอาด ใส่ลงไปในหม้อดินสำหรับต้มยา ใส่น้ำสะอาดลงไปพอท่วมตัวยาต้มเคี่ยวไปด้วยไฟอ่อนๆ ๒๐ นาที ก็ยกลงปล่อยเอาไว้ให้เย็นลง
ขนาดรับประทาน รินเอาน้ำยานี้มาดื่มกินครั้งละ ๑ ช้อนชา รับประทานเป็นน้ำชาไปเรื่อยๆเช้า กลางวัน และเย็น

เมื่อผู้ป่วยได้นำไปใช้อาการทุเลาหรือหายป่วยแล้ว ให้ถวายกล้วยน้ำว้า ๑ หวี และตักบาตรอย่างน้อย ๓ เช้า รักษาศีล ๕ ทำสมาธิ อุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของตำรายาด้วย จะได้ตัดรากถอนโคน

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดถ้ำขาม สกลนคร

ส่วนประกอบของยาดองน้ำมูตร
ได้แก่ สมอไทย ข่า ขิง กระเทียม พริกไทย ดีปลี ใบชะพลู เกลือสมุทร (เกลือทะเล)
เกลือสินเธาว์ (เกลือดิน) พริกชี้ฟ้า พอควร ล้างสะอาด ตำพอละเอียด บรรจุลงในไหยา
เอาน้ำปัสสาวะ ๑ ส่วน น้ำ ๓ ส่วน ต้มให้เดือด ตั้งไว้พออุ่น กรอง แล้วใส่ในไหยาให้ท่วมตัวยาทั้งหมด และสูงจากตัวยาเล็กน้อย ปิดฝาแน่น ทิ้งไว้ ๖-๗ วันจึงนำมาใช้ได้

แก้ธาตุเสีย บำรุงกำลัง เจริญอาหาร ป้องกันไข้ และแก้ไข้


ส่วนประกอบของ ยาส้มหลวงปู่ฝั้น
๑. จุนสี ๔ ส่วน
๒. ดินประสิว ๔ ส่วน
๓. สารส้ม ๔ ส่วน
๔. เกลือสินเธาว์ ๔ ส่วน
๕. กำมะถัน ๑ ส่วน
วิธีทำยาส้ม
นำส่วนประกอบทั้งห้า ตามอัตราส่วนโดยน้ำหนัก มาบดให้เป็นผง คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน นำมากลั่น จะได้กรดน้ำส้มอย่างเข้มข้น
วิธีการใช้ยาส้ม
๑. นำยาส้มที่ได้มาเจือจางด้วยน้ำ ก่อนนำไปใช้งานตามจุดประสงค์ต่างๆ
๒. ใช้ห้ามเลือดแผลสด โดยใช้ยาป้ายที่แผล เลือดจะหยุดไหลทันที (ยาส้มแบบเข้มข้น)
๓. ยาส้ม ๒๐-๓๐ หยด ผสมน้ำสะอาด ๖๐๐ มิลลิลิตร ทาผิวหนัง รักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง กลากเกลื้อน เชื้อรา
๔. ยาส้ม ๗ หยด ผสมน้ำสะอาด ๖๐๐ มิลลิลิตร ใช้ล้างตา รักษา ตาต้อ ตามัว (ควรใช้อย่างระวัง ปรึกษาผู้รู้ก่อนใช้)
๕. ยาส้ม ๗-๑๒ หยด ผสมน้ำสะอาด ๖๐๐ มิลลิลิตร เป็นน้ำดื่ม
๖. ยาส้ม ๗ หยด ผสมน้ำสะอาด ๖๐๐ มิลลิลิตร หยดจมูก แก้อาการน้ำมูกไหล
๗. ยาส้ม ๗ หยด ผสมน้ำผึ้ง ๑ ช้อนชา ผสมน้ำดื่ม แก้อาการไซนัส
๘. ยาส้มทาที่หัวหูด (ขูดหัวหูดก่อนทา) หัวหูดจะหายไป
๙. ใช้แก้พิษแมลงทุกชนิด โดยใช้ยาส้มหยดตรงที่เป็นแผล
ข้อห้ามข้อควรระวังในการใช้ ยาส้ม
๑. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน
๒. ก่อนใช้งานควรปรึกษาผู้รู้ก่อน อาจจะเกิดอันตราย จากการใช้งานที่ผิดวิธีได้
๓. ห้ามใช้กับภาชนะที่เป็นโลหะทุกชนิด
๔. ห้ามให้ตัวยา ที่ยังไม่ได้เจือจางเข้าตา และห้ามถูกเสื้อผ้า
๕. ในขบวนการกลั่นยา ค่อนข้างอันตราย เนื่องจากตัวยาส้มที่ได้จากการกลั่น 
มีสภาพเป็นกรดเข้มข้น ต้องระวังอย่างยิ่ง

เมื่อผู้ป่วยได้นำไปใช้อาการทุเลาหรือหายป่วยแล้ว ให้ถวายกล้วยน้ำว้า ๑ หวี และตักบาตรอย่างน้อย ๓ เช้า รักษาศีล ๕ ทำสมาธิ อุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของตำรายาด้วย จะได้ตัดรากถอนโคน

วิธีกลั่นยาส้มหลวงปู่ฝั้น โดย หลวงตาบุญส่ง วิสุทโธ


รพ. การแพทย์แผนไทยแห่งแรก หลวงปู่แฟบ สุภัทโท วัดป่าดงหวาย สกลนคร 

โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยแห่งแรก วัดป่าดงหวาย จ. สกลนคร 

โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยสกลนคร หลวงปู่แฟบ สุภัทโท 
ออกอากาศ ช่อง ๕    วันที่ ๒๙ ตค ๕๗

สร้างโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยแห่งแรก วัดป่าดงหวาย สกลนคร 
เจ้าอาวาส หลวงปู่ แฟบ สุภัทโท


อโรคยาศาล วัดคำประมง  อ. พรรณนานิคม จ. สกลนคร
อโรคยาศาล ให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งโดยไม่คิดมูลค่าด้วยสมาธิบำบัดและสมุนไพร ๑๑ ชนิด ได้แก่ ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ทองพันชั่ง เหงือกปลาหมอ สิ่งละ ๒๐๐ กรัม, ฝีหมอบ ๑๐๐ กรัม, หัวร้อยรู ไม้สักหิน โกฐจุฬาลัมพา โกฐเชียง กำแพงเจ็ดชั้น หญ้าหนวดแมว สิ่งละ ๕๐ กรัม วิธีทำ วิธีใช้ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย

เมื่อผู้ป่วยได้นำไปใช้อาการทุเลาหรือหายป่วยแล้ว ให้ถวายกล้วยน้ำว้า ๑ หวี และตักบาตรอย่างน้อย ๓ เช้า รักษาศีล ๕ ทำสมาธิ อุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของตำรายาด้วย จะได้ตัดรากถอนโคน

อโรคยาศาลวัดคำประมง พรรณนานิคม สกลนคร
http://www.khampramong.org/arokhayasarn.html
---------------------------------------------------------------------------------